ราคาหุ้น BBL รูดลง 2 วันซ้อน ปรับลง 17.50 บาท หลังมีข่าวทุ่มเงินกว่า 9 หมื่นล้านบาท ซื้อธนาคารพีที แบงก์ เพอร์มาตา ของอินโดนีเซีย โดยราคาหุ้นปรับลงจาก 164 บาท มาอยู่ที่ 151.50 บาท
ราคาหุ้นธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL วันนี้ ร่วงลงเป็นวันที่ 2 หลังมีข่าวทุ่มเงินกว่า 9 หมื่นล้านบาท ซื้อธนาคารพีที แบงก์ เพอร์มาตา (PT Bank Permata) ของอินโดนีเซีย ซึ่งสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดถือหุ้นอยู่ โดยราคาหุ้นปิดวันนี้ที่ระดับ 151.50 บาท ลดลง 10 ยาท หรือเปลี่ยนแปลง -6.19% มูลค่าการซื้อขาย 12,935.00 ล้านบาท สูงสุดในวันนี้
โดยวานนี้ ราคาหุ้น BBL เปิดตลาดที่ 164 บาท โดยราคาไหลลง 3.85% มาอยู่ที่ 162.50 บาท ลดลง 6.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 2,006.09 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.54 น. และปิดตลาดที่ระดับ 161.50บาท ลดลง 7.50 บาท หรือเปลี่ยนแปลง -4.44% มูลค่าการซื้อขาย 6,654.00 ล้านบาท
บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า ธนาคารกรุงเทพ (BBL) แจ้งว่าได้เข้าทำข้อตกลงซื้อหุ้น Series B ของ PT bank Permata จำนวน 24,999.4 ล้านหุ้น (หรือ 89.12%) จาก Standard Chartered Bank
ดีล M&A นี้ดูเหมือนจะส่งผลด้านลบมากกว่า เนื่องจากไม่มี synergy ไม่ได้ช่วยขยาย digital banking ไม่เพิ่มอำนาจการแข่งขันในตลาด และราคาที่ซื้อมาก็ถือว่าแพง เนื่องจากประเด็นหลักที่มองคือเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้น จึงแนะนำให้ซื้อเมื่ออ่อนตัว โดยระดับที่เหมาะจะเข้าซื้อคือที่ P/BV ประมาณ 0.6x (BVPS 230/245 บาทในปี 2562/63)
ทั้งนี้ BBL แจ้ง SET ว่าได้เข้าทำข้อตกลงซื้อหุ้น Series B ของ PT bank Permata จำนวน 24,999.4 ล้านหุ้น (หรือ 89.12%) จาก Standard Chartered Bank โดยหลังจากเข้าซื้อหุ้น Permata Bank 89.12% แล้ว BBL เข้าเกณฑ์ต้องทำเทนเดอร์ในหุ้นที่เหลืออีก 10.88% จากผู้ถือหุ้นส่วนน้อยด้วย
โดย BBL ต้องชำระค่าหุ้นประมาณ 2,674 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 8.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็น P/BV ของ Permata Bank ที่ 1.77x (เทียบค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม 1.0 เท่า) ซึ่งราคานี้สะท้อนถึง 1.) การที่ธนาคารมีสถานะแบงก์ในตลาดอินโดนีเซียที่มีศักยภาพเติบโตสูง และในประเทศที่มีพัฒนาการดิจิตอลที่ก้าวหน้าและเติบโตเร็ว 2.) การสร้างมูลค่ากิจการ (franchise) ในระดับภูมิภาค 3.) การใช้เงินทุนที่มีประสิทธิภาพเพื่อสร้าง ROE ได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ดีล M&A นี้ยังต้องรอการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นและหน่วยงานกำกับดูแลก่อน ซึ่งคาดว่าธุรกรรมจะเสร็จเรียบร้อยภายในปี 2563
ฝ่ายวิจัย มองว่า การลงทุนรอบนี้มีทั้งข้อดีและข้อด้อย โดยในด้านบวก การลงทุนครั้งนี้จะช่วยให้ธนาคารสามารถบริหารเงินส่วนเกินให้มีประสิทธิภาพ โดยกองทุนขั้นที่ 1 หลังการซื้อจะอยู่ที่ประมาณ 15.5% (จาก ~17% ในปัจจุบัน) ช่วยให้กำไรสุทธิ BBL เพิ่มขึ้นประมาณ 7% และทำให้ ROE เพิ่มขึ้นจาก 8% เป็น 8.6% แต่ในด้านลบ Permata Bank ดูไม่เข้ากับกลยุทธ์และไม่ตอบโจทย์ของ BBL ที่จะรุกด้าน digital banking เพราะธุรกิจหลักของ Permata Bank เป็นการทำธุรกรรมธนาคารกับลูกค้าบริษัทคิดเป็นสัดส่วนถึง 60% และมีลูกค้าในมือเพียงแค่ 3.5 ล้านบัญชีเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียเป็นประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจดิจอตอลและดิจิตอลแบงก์ไปอย่างรวดเร็ว และมี platform ของ e-commerce มากมายที่พร้อมจะเปลี่ยนตัวเองมาเป็นธนาคารในรูปแบบออนไลน์และแข่งกับธนาคารแบบดั้งเดิมอย่าง Permata Bank นอกจากนี้ ด้วยพื้นฐานความถนัดของ BBL จึงคิดว่าธนาคารไม่สามารถจะเดินหน้า digital banking ได้โดยไม่มีพันธมิตรมาช่วย
และท้ายที่สุด มองว่าดีลนี้เป็นการรวม platform การธนาคารแบบดั้งเดิมในสองประเทศเข้าด้วยกันด้วยราคาที่แพงแต่ไม่มี synergy อะไรเลย และไม่เพิ่มอำนาจการแข่งขันให้กับธนาคารทั้ง 2 ทั้งนี้ เนื่องจากประเด็นหลักที่มองคือเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้น จึงแนะนำให้ซื้อเมื่ออ่อนตัว โดยระดับที่เหมาะจะเข้าซื้อคือที่ P/BV ประมาณ 0.6x (BVPS 230/245 บาทในปี 2562/63)