กรุงศรีฯ ประเมินเงินบาทปีหน้ายังแข็งค่า แต่ในอัตราที่ชะลอลง คาดสิ้นปีแตะที่ 29.85 เผยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดยังสูงทำไทยติดหล่มบาทแข็ง ซ้ำเติมส่งออก หวังลงทุนเกิดช่วยลดเกินดุล
นายตรรก บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY)เปิดเผยถึงทิศทางค่าเงินบาทในปีหน้าว่า ยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นแต่เป็นการแข็งค่าในอัตราที่ชะลอลงจาก 4 ปีที่ผ่านมา มีการแข็งค่าสะสม 16% และมีความผันผวนลดลงจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่มีกรอบการแกว่งตัวอยู่ประมาณ 2 บาท แต่คาดการณ์ในปีหน้าเงินบาทแตะระดับอ่อนสุดที่ 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และแข็งค่าสุดที่ 29.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และ ณ สิ้นปี 29.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (กรอบประมาณการ 29.25-30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) มองที่ระดับ โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าที่คาดว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ย ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ซึ่งมองว่าเงินบาทจะแข็งค่าที่ 29.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
น.ส.รุ่ง สงวนศรี ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า สาเหตุที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นจนถือได้ว่าไม่เกาะกลุ่มกับประเทศคู่ค้านั้น สาเหตุหลักมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังคงสูง ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกที่ชะลอตัวทำให้มีการชะลอนำเข้าวัตถุดิบ รวมถึงการลงทุนที่ชะงักมาหลายปีทำให้ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในจำนวนที่มาก แต่เป็นการเกินดุลที่ไม่มีคุณภาพ เพราะเกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง ซึ่งการแข็งค่าดังกล่าวเป็นการซ้ำเติมผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าอยู่แล้ว ทำให้ประเทศไทยติดหล่มเงินบาทแข็ง
"การขาดดุลในระดับที่ไม่มากเกินไปก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้หากมีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจจริงก็ไม่มีปัญหา แต่การเกินดุลของเราแก้ได้ด้วยการลงทุนที่เพิ่มขึ้นก็จะช่วยทำให้เกิดการนำเข้าเพิ่มขึ้น แต่หากความเชื่อมั่นไม่เกิดการลงทุนก็มายาก แม้ดอกเบี้ยจะต่ำหรือบาทจะแข็งค่าเอื้อต่อการนำเข้าก็ตาม ทำให้เงินบาทติดหล่มแข็งค่า ซึ่งหากปีหน้าโครงการลงทุนของรัฐออกมาก็จะช่วยหนุนเศรษฐกิจได้ด้วย"
สำหรับประเด็นชี้นำอัตราแลกเปลี่ยนในปีหน้านั้น ประเมินผลกระทบสงครามการค้ายังคงมีอยู่ ทำให้ธนาคารกลางของประเทศหลักๆ ยังคงผ่อนคลาย โดยคาดการณ์เฟดยังลดอัตราดอกเบี้ยแต่ในจำนวนครั้งที่น้อยลง ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิมทั้งปีที่ 1.25% ตลอดปีจากประสิทธิผลลดลง และ ธปท.พยายามดูแลเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว และเศรษฐกิจไทยก็ยังคงเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวโดยประมาณการจีดีพีปี 2563 ที่ 2.50% และปี 2562 ประมาณการที่ 2.40% รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีหน้า และกรณี Brexit ในช่วงรอยต่อ
น.ส.รุ่ง กล่าวอีกว่า ปัจจัยต่างไปในปีหน้านั้น เราให้น้ำหนักกับปัจจัยต่างประเทศมากกว่า แต่อีกปัจจัยในประเทศที่เข้ามามีผลต่อนโยบายการเงินของประเทศได้แก่ การสรรหาผู้ว่าฯ ธปท.สำหรับวาระ 2563-2568