"ออมสิน" เผย ดัชนี SS I ของผู้ประกอบการ Startup ไตรมาส 3 ปี 62 อยู่ที่ระดับ 51 ซึ่งยังที่สูงกว่าเกณฑ์ค่ากลางที่ระดับ 50 ส่วนความเชื่อมั่นในภาคการค้าอยู่ที่ 45.77 ต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 เหตุจากเศรษฐกิจในและนอกประเทศชะลอตัวลง แต่ใน 3 เดือนข้างหน้า ภาวะธุรกิจภาพรวมมีโอกาสดีขึ้น โดยสะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 65.93 เหตุไตรมาส 4 เป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยวที่มีเทศกาลเฉลิมฉลองและมีวันหยุดต่อเนื่องหลายช่วงที่จะทำให้กิจกรรมทางการค้าและธุรกิจคึกคักขึ้น
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวถึง ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Startup (SSI) ประจำไตรมาส 3 ปี 2562 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการ Startup ทั่วประเทศจำนวน 500 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนี SSI จะอยู่ที่ระดับ 51.85 สูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการ Startup ยังมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางธุรกิจโดยรวม
อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีฯ ในไตรมาส 3 มีการปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงทั้งต่างประเทศและในประเทศ และถูกซ้ำเติมด้วยภัยธรรมชาติทั้งภัยแล้ง พายุฝนและวิกฤตน้ำท่วม โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคการค้าอยู่ที่ระดับ 45.77 ซึ่งต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 เนื่องจากต้องเผชิญปัจจัยลบจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติทั้งภัยแล้งและอุทกภัยในหลายพื้นที่ ส่งผลให้การคมนาคมขนส่ง กิจกรรมทางการค้าและธุรกิจชะลอตัวลง รวมถึงยังได้รับแรงกดดันจากการแข่งขัน ที่สูงขึ้น ทำให้ไม่สามารถปรับราคาขายสินค้าและบริการให้สูงขึ้นได้ ในขณะที่ต้นทุนผลิตภัณฑ์/สินค้าที่นำมาจำหน่ายปรับตัวสูงขึ้น ทำให้กำไรจากการประกอบการลดลง
สำหรับดัชนี SSI ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการ Startup ส่วนใหญ่ประเมินว่าภาวะธุรกิจในภาพรวมมีโอกาสดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 65.93 เนื่องจากในไตรมาส 4 เป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยว (High season) ที่มีเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองและมีวันหยุดต่อเนื่องหลายช่วง จะทำให้กิจกรรมทางการค้าและธุรกิจคึกคักขึ้น รวมถึงมีคำสั่งซื้อและยอดสั่งซื้อล่วงหน้าเพิ่มขึ้น อีกทั้งผู้ประกอบการยังคาดหวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเช่น โครงการชิม ช้อป ใช้ จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลเชิงบวกชัดเจนในไตรมาสที่ 4 จึงส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นคาดการณ์ไตรมาส 4 ในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม จากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลต่อกำลังซื้อและการบริโภคภายในประเทศ ครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่ายและลดการใช้จ่าย ที่ไม่จำเป็นลง รวมถึงการแข่งขันทางธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น ล้วนยังคงเป็นปัจจัยบั่นทอนต่อยอดขายสินค้าและบริการของผู้ประกอบการในปี 2562 ซึ่งอาจส่งผลให้ความเชื่อมั่นทางธุรกิจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์
เมื่อพิจารณาในแต่ละภาคธุรกิจ พบว่า ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม การเกษตรและบริการยังมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางธุรกิจโดยรวม (สูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50) โดยดัชนี SSI ในภาคการเกษตรอยู่ที่ระดับ 56.92 สูงที่สุดในทุกภาคธุรกิจ เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายมีการใช้เทคโนโลยีและมีรูปแบบการจัดการฟาร์มอย่างเป็นระบบครบวงจรสามารถรักษามาตรฐานคุณภาพผลผลิตได้แม้สภาพอากาศแปรปรวน รวมถึงบางรายมีการประกันราคากับบริษัทคู่สัญญา
ขณะที่ดัชนีภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 53.57 และ 50.17 ตามลำดับ แต่พบว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคการค้าต่อสถานการณ์ทางธุรกิจลดลง (ต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50) มาอยู่ที่ 45.77 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่ธนาคารมีการจัดทำดัชนีนี้ขึ้นมา โดยผู้ประกอบการ Startup ในทุกภาคธุรกิจยังคงมีข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจจากภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังและลดการจับจ่ายที่ไม่จำเป็นลง ปัญหาภัยธรรมชาติที่ทำให้ผลผลิตการเกษตรและราคาวัตถุดิบมีความไม่แน่นอนสูง การแข่งขันทางธุรกิจจากคู่แข่งขันที่เพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีฝีมือ เช่น โปรแกรมเมอร์ และขาดเงินทุนหมุนเวียน
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ มองว่ายังมีประเด็นที่ต้องติดตามคือปัจจัยทางด้านต้นทุนของผู้ประกอบการ Startup ที่ยังอยู่ในระดับสูง ทั้งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ ค่าจ้างแรงงานที่มีฝีมือ ค่าฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงาน ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด รวมถึงค่าสาธารณูปโภคต่างๆ นอกจากนี้ผู้ประกอบการ Startup ยังคงต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนในด้านเงินทุนทั้งระยะยาว และระยะสั้นโดยมีเงื่อนไขการกู้ยืมที่ยืดหยุ่นเพื่อช่วยสนับสนุนด้านการตลาด การจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าทางสื่อต่างๆ และการออกบูธแสดงสินค้าที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาแนวทางการขยาย/ต่อยอดธุรกิจหรือช่วยเสนอแนะวิธีการแก้ไขปัญหาเมื่อธุรกิจประสบปัญหา เพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง รวมทั้งการอบรมเพิ่มความรู้ด้านการค้าในยุค Digital ความรู้ด้านการลงทุน การขยายธุรกิจ การส่งออก ภาษี ตลอดจนการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น