แบงก์ออมสิน เผยสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ Startup หรือ SSI เป็นครั้งแรก โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Startup ไตรมาส 1/61 อยู่ในเกณฑ์ดีที่ 62.16 สูงกว่าค่ากลางที่ 50 สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการต่อสถานการณ์ทางธุรกิจโดยรวม ส่วน SSI อีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการมองธุรกิจ Startup ภาพรวมดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 67.75
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า “ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน ได้ทำการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Startup (SSI) เป็นครั้งแรก ภายหลังจากที่ได้มีการจัดทำการประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) และดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (GSI) เนื่องด้วยธนาคารตระหนักถึงความสำคัญของผู้ประกอบการ Startup ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคตของประเทศไทย จึงมีความสนใจจะทำการศึกษาและติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการในธุรกิจ Startup และจะได้มานำเสนอผลการสำรวจอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Startup (SSI) ประจำไตรมาส 1 ปี 2561 ที่ได้ดำเนินการสำรวจจากกกลุ่มผู้ประกอบการ Startup ทั่วประเทศ จำนวน 423 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนี SSI ไตรมาส 1 ปี 2561 อยู่ที่ระดับ 62.16 ซึ่งสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการ Startup มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางธุรกิจโดยรวมจากปัจจัยด้านผลประกอบการ ด้านการผลิต และด้านคำสั่งซื้อที่อยู่ในระดับดี โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจบริการ เช่น ธุรกิจการเงิน, การขนส่งและลอจิสติกส์, การศึกษา และการท่องเที่ยว เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในด้านการตลาด และการให้บริการ ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนของธุรกิจที่ปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับ SSI ในอนาคตอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการ Startup มีมุมมองต่อภาวะธุรกิจ Startup ในภาพรวมดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 67.75 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณการผลิต และคำสั่งซื้อที่ผู้ประกอบการ คาดว่าจะมีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจการแพทย์/สาธารณสุข ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และธุรกิจการเงิน ขณะที่ผู้ประกอบการยังคาดการณ์ว่าต้นทุนการประกอบการยังไม่น่าจะลดลงจากปัจจุบัน เมื่อพิจารณาในแต่ละภาคธุรกิจ ได้แก่ อุตสาหกรรม, การเกษตร, การค้า, และบริการ พบว่าผู้ประกอบการ Startup ในภาคบริการมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ธุรกิจอยู่ที่ระดับ 68.73 ซึ่งสูงกว่าภาคธุรกิจอื่นที่อยู่ระดับ 57.9-60.5 อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ Startup ยังคงมีข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะจากปัญหาการขาดสภาพคล่อง การเพิ่มขึ้นของต้นทุน และคู่แข่งขัน รวมถึงการขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือและทักษะเฉพาะทาง
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ มองว่ายังมีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังติดตาม คือ ปัจจัยทางด้านต้นทุนของผู้ประกอบการ Startup ที่สูงขึ้น ทั้งจากค่าแรง, อุปกรณ์การผลิต, ราคาน้ำมัน และค่าขนส่ง อีกทั้งยังมีอุปสรรคที่รอการแก้ไขในด้านกำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้สั่งซื้อ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ Startup ยังคงต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนในด้านเงินทุนหรือร่วมลงทุนเพื่อขยายธุรกิจ และลงทุนเพิ่มเติมในด้านเครื่องจักร และอุปกรณ์ อีกทั้งสนับสนุนด้านการหาตลาด และเพิ่มความรู้ด้านเทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น