xs
xsm
sm
md
lg

ASP ประเมิน SET เดือน ธ.ค.ยังได้ LTF หนุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บล.เอเซียพลัสประเมินตลาดหุ้นไทย ธ.ค.ยังได้แรงซื้อจาก LTF และสถาบันช่วยพยุง ขณะที่ 5 ปีหลังสุดนักลงทุนสถาบันมีมูลค่าซื้อเฉลี่ย 1.4 หมื่นล้านบาทในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของปี แต่ยังมีกำไร บจ.ปีนี้-ปีหน้าที่ส่อแวววูบยังเป็นปัจจัยกดดัน คาดปี 63 บจ.มีกำไร 1 ล้านล้านบาท ลดลงจากประมาณการเดิมราว 4.76 หมื่นล้านบาท หรือ 4.53% จากช่วงก่อนหน้าที่ประเมินไว้ที่ 1.05 ล้านล้านบาท แนะนำหุ้นที่มีปัจจัยบวกหนุน KKP, MAJOR, RS, ERW และ BCH

บล.เอเซียพลัสเปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นในเดือน ธ.ค. 2562 ยังต้องเผชิญกับหลากหลายบททดสอบ รวมถึงแรงซื้อต่างชาติที่มักจะหดตัวลง โดยเฉพาะช่วงท้ายของเดือนที่เป็นเทศกาลวันหยุดยาว อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าน่าจะเห็นแรงซื้อจากสถาบันฯ เข้ามาหนาแน่นในช่วงที่เหลือของปีแทน เนื่องจากปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่กองทุน LTF จะได้สิทธิในการลดหย่อนภาษี จึงน่าจะเห็นแรงซื้อที่เข้ามากระจุกตัวช่วงท้ายของปี ซึ่งสอดคล้องกับสถิติในอดีตย้อนหลัง 14 ปีที่แรงซื้อ LTF กว่า 45.1% มักจะกระจุกตัวในเดือนสุดท้ายของทุกปี

อีกทั้งแรงซื้อ LTF ที่กระจุกช่วงท้ายปีในปริมาณมากทำให้มีโอกาสสูงที่จะเกิดการทำ Window Dressing หรือการดันราคาหุ้นของนักลงทุนสถาบันฯ เพื่อให้พอร์ตที่ลงทุนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้งบการลงทุนรายไตรมาสออกมาดูดี ซึ่งมักจะถูกใช้เป็นเหตุการณ์ในการเก็งกำไรโดยเฉพาะช่วงสิ้นไตรมาส 2 และสิ้นไตรมาส 4 เสมอ

นอกจากนี้ หากพิจารณาแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันฯ ในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของปี พบว่าในช่วง 5 ปีหลังสุดมีการเร่งซื้อหุ้นไทยจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันฯ อย่างเห็นได้ชัด และมีมูลค่าเฉลี่ยสูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท

ปรับลดกำไร บจ.ปี 62-63 และ EPS

อย่างไรก็ดี ฝ่ายวิเคราะห์ฯ ได้ปรับลดกำไรสุทธิปี 2562-63 และ EPS ลดลงมากกว่าฝ่ายวิจัยคาดการณ์โดยกำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียนปี 2562 เดิมไว้ที่ 9.99 แสนล้านบบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น (EPS) 100.64 บาท แต่หลังการประกาศงบฯ พบว่า 9 เดือน ปี 62 บริษัททำกำไรสุทธิรวมกันได้ 6.95 แสนล้านบาท คิดเป็น 69.52% ของประมาณการฯ ทั้งปี ถือเป็นผลประกอบการที่ตํ่ากว่าที่คาด จึงยากที่จะเห็นกำไรสุทธิงวด 4Q62 วิ่งไปถึงที่ประเมินไว้

ส่วนการปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2562-63 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นของหุ้น และกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ นั้น ปี 2562 มีการปรับประมาณการฯ ทั้งขึ้นและลง โดยฝ่ายวิจัยฯ ปรับเพิ่มประมาณการฯ 14 บริษัท รวม 1.2 หมื่นล้านบาท บริษัทที่ปรับประมาณการฯ ขึ้นมากสุด ได้แก่ PTTEP, MINT, TPIPL, MCS และปรับลดประมาณการฯ 50 บริษัท รวม 4.88 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันและปิโตรเคมี เช่น IVL, IRPC, BANPU, SCC รวมถึง TRUE

ผลรวมระหว่างส่วนเพิ่มกับส่วนลดของประมาณการใหม่ปี 2562 พบว่าลดลงราว 3.69 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 3.69% มาอยู่ที่ 9.63 แสนล้านบาท แต่ฝ่ายวิจัยฯ มีการปรับกำไรต่อหุ้น(EPS) ลดลงในอัตราที่แรงกว่าจากระดับ 100.64 บาท/หุ้น มาเหลือ 92.11 บาท/หุ้น หรือลดลง 8.5%

สาเหตุที่ทำให้ EPS ปรับลดลงมากกว่ากำไรสุทธิ เกิดจากจำนวนหุ้นที่เป็นตัวหารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนได้จากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีหุ้น IPO เข้ามาซื้อขายในตลาดจำนวน 55 บริษัท ล้วนมีค่า P/E อยู่ในระดับสูง และมีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในปี 2562 มีหุ้น IPO เข้าในดัชนี SET กว่า 14 บริษัท ได้แก่ AWC, ACE, SEG, DOHOME, SHR, RBF, ILM, SUPEREIF, SPRIME, ZEN, TTT, AIMCG, VRANDA และ CPW มี P/E เฉลี่ยสูงถึง 84.79เท่า (ไม่รวมกองทุนอสังหาฯ และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน)

โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่อย่าง AWC มี Market Cap. ในวันแรกที่เข้าตลาดฯ 1.87 แสนล้านบาท และมี P/E ย้อนหลัง 4 ไตรมาส 280 เท่า, และ ACE มี Market Cap. 4.72 ล้านบาท มี P/E ย้อนหลัง 4 ไตรมาส 69 เท่า เป็นต้น ถือเป็นส่วนหนึ่งที่กดดัน EPS ของตลาดฯลดลง (เนื่องจากสัดส่วนของ Market Cap. ที่ขยายขึ้นมากกว่าส่วนของกำไร)

สำหรับแนวโน้มกำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียนปี 2563 เบื้องต้นคาดการณ์กำไรฯ อยู่ที่ 1.0 ล้านล้านบาท ถูกปรับลดลงจากประมาณการเดิมราว 4.76 หมื่นล้านบาท หรือ -4.53% จากช่วงก่อนหน้าที่ประเมินไว้ที่ 1.05 ล้านล้านบาท

ส่วนกำไรต่อหุ้น (EPS) ลดลงมาอยู่ที่ 95.71 บาท (เดิม 105.48 บาท) ประมาณการกำไรสุทธิที่ถูกปรับลดลงส่วนใหญ่เกิดจากกลุ่มพลังงานซี่งถูกปรับลดประมาณการกำไรสุทธิลง 29% จากประมาณการเดิม (หุ้นที่ถูกปรับลดประมาณการ เช่น PTT, BANPU, IRPC), กลุ่มปิโตรเคมี -16% (IVL, PTTGC) รวมถึงหุ้น SCC

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยฯ กำหนดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย อ้างแหล่งอิงดูไบตั้งแต่ปี 2563 ไว้ที่ 65 เหรียญต่อบาร์เรล ขณะที่กลุ่มปิโตรเคมีทั้งสายโอเลฟินส์ และอะโรเมติกส์ Spread ยังอยู่ภายใต้แรงกดดัน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความต้องการที่ชะลอตัวจากสงครามการค้า ขณะที่ Supply ใหม่มีเข้ามาสู่ตลาดต่อเนื่อง

กลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับลดประมาณกำไรฯ ลงราว 11% โดยเฉพาะ KBANK เกิดจากการปรับลดรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิตามแนวโน้มสินเชื่อที่ชะลอตัว รวมถึงการปรับลดรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย

กลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัยฯ ปรับลดประมาณการกำไรฯ ลงราว 13% กดดันจากทั้งฝั่ง Demand เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอกระทบต่อกำลังซื้อ, มาตรการ LTV และการเข้มงวดปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ขณะที่ฝั่งผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับปัญหา Supply ในตลาดจำนวนมาก ทำให้การแข่งขันรุนแรงต่อเนื่อง

สรุปคือ ฝ่ายวิจัยฯ มีการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 9.63 แสนล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น (EPS) 92.11 บาท/หุ้น ขณะที่ปี 2563 ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิลงมาอยู่ที่ 1.0 ล้านล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น (EPS) 95.71 บาท/หุ้น แต่ EPS Growth เติบโตราว 4% YoY นับเป็นความคาดหวังใหม่หลังอัตราการเติบโตของกำไรฯ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561-2562F) ไม่สดใส

แนะเดือน ธ.ค.ลงทุนหุ้น Domestic Play

กลยุทธ์ลงทุนเดือน ธ.ค. 2562 แนะนำให้เลือกลงทุนในหุ้น Domestic Play มีพื้นฐานแข็งแกร่ง ราคา Laggard รวมถึงเป็นหุ้นที่ได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสุดท้ายของปีนี้ ผสานกับเม็ดเงิน LTF + เกาะกระแสหุ้นที่มีโอกาสเกิดการทำ Window Dressing ของนักลงทุนสถาบันฯ สูง คือ KKP, MAJOR, RS, ERW และ BCH

จากสถิติในอดีตจะสามารถปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของปีและให้ผลตอบแทนเฉลี่ยชนะตลาดฯ ทั้งสิ้น กล่าวคือ KKP ให้ผลตอบแทน 1.4%, MAJOR 2.3%, RS 4.2%, ERW 1.8% และ BCH 0.7% ขณะที่ SET Index เพิ่มขึ้นเพียง 0.23%

ส่วนหุ้น Over Value ควรระมัดระวังในการลงทุน ได้แก่ JAS แม้ระยะสั้นจะมีประเด็นบวกจากปันผลพิเศษ แต่ฐานกำไรปกติที่เริ่มตํ่าลงจนพลิกเป็นขาดทุนปกตินับจากปี 2563 จะกดดันราคาหุ้น, และ OSP ประสิทธิภาพทำกำไร 9M62 ต่ำกว่าคู่แข่ง ประกอบกับแนวโน้มกำไรปกติปี 2563 เติบโตในอัตราลดลง นอกจากนี้ PER แพงกว่า CBG และหุ้นเครื่องดื่มโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น