xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์คลายความกังวลปัญหาการจ้างงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สศช. คลายความกังวลปัญหาการจ้างงาน หลังเร่งรัดเงินลงทุนรัฐวิสาหกิจ 1 แสนล้านบาท หลายปัจจัยเอื้อลงทุน คาดยอดทำงาน OT ของแรงงานจะขยับขึ้นปลายปี ต้นปีหน้า ครม.เศรษฐกิจสั่ง ธปท. สภาพัฒน์ แจงหนี้บุคคล หนี้ประกอบการอาชีพ เพื่อหาทางช่วยเหลือ อาชีพยอดฮิตของคนรุ่นใหม่ กราฟิกดีไซน์ การตลาดออนไลน์และโฆษณา การทำเว็บและโปรแกรมมิ่ง

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจยังไม่กระทบต่อการจ้างงานมากนัก ยอมรับว่า ยอดการทำ OT ของบรรดาโรงงานลดลง เนื่องจากที่ผ่านมาออเดอร์สั่งซื้อสินค้าชะลอตัว แต่หลังจากไตรมาส 4 การเร่งรัดเงินลงทุนรัฐวิสาหกิจ 1 แสนล้านบาท เงินลงทุนของรัฐบาล รวมทั้งเงินลงทุนจากการส่งเสริมบีโอไอ จะเริ่มออกสู่ระบบ การท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ส่งผลต่อการจ้างงานจากปลายปีถึงต้นปีหน้า จากนั้นการจ้างงาน OT จะปรับดีขึ้นเหมือนเดิม โดยเฉลี่ยชั่วโมงการทำงานยังทรงตัวในทุกสาขา ค่าการจ้างงานโดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เท่ากับ 14,334 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ส่วนการจ้างงานภาคเอกชนเท่ากับ 12,847 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เมื่อหักเงินเฟ้อร้อยละ 0.6 ค่าจ้างแท้จริงเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ส่วนอัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.04 หรือว่างงาน 3.94 แสนคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5

สำหรับหนี้สินภาคครัวเรือนไตรมาส 2 ปี 62 ยังมีมูลค่าสูง 13.08 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.8 ชะลอลงจากร้อยละ 6.3 ในไตรมาส 2 มีสัดส่วนร้อยละ 78.7 ของจีดีพี เป็นผลจากสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์และรถยนต์เป็นหลัก เมื่อ ธปท. คุมสินเชื่อบ้าน และการรอเปลี่ยนรุ่นรถยนต์รุ่นใหม่ จึงทำให้การขอสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อบ้านลดลง ยอดสินเชื่อจึงลดลง และระวังการซื้อสินค้าเงินกู้มากขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจยังสั่งการให้ ธปท. สศช. สภาพัฒน์ เพื่อศึกษาพฤติกรรมการก่อหนี้ การใช้หนี้สินส่วนบุคคลนำไปลงทุนธุรกิจส่วนตัว สัดส่วน 1 ใน 5 เพื่อลงทุนในกิจการสำหรับการค้าขาย เพราะจะเกิดผลกำไร เพื่อจำแนกให้ชัดเจน เพื่อได้ก่อนสิ้นเดือนธันวาคมนี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขหรือแนวทางดูแล และหาแนวทางส่งเสริมการประกอบอาชีพ ไม่ใช่กู้เงินเพื่อใช้จ่ายฟุ่มเฟือยในครัวเรือน เพื่อลดปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน

เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒน์ฯกล่าวเพิ่มเติมว่า รูปแบบการทำงานของคนรุ่นใหม่ (NextGen Work) มากกว่า 2 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปีละ 300,000-600,000 คน สำหรับกลุ่มคนเกิดระหว่างปี 2524-2545 เติบโตมาพร้อมกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต และมีแนวโน้มในการประกอบอาชีพในรูปแบบใหม่มากขึ้น โดย 1 ใน 3 ของกลุ่มคนเจเนอเรชันวาย ชอบทำงานแบบ NextGen Work สูงกว่าคนในกลุ่มอื่น โดยอาชีพ 4 อันดับแรก ได้แก่ กราฟิกดีไซน์ การตลาดออนไลน์และโฆษณา การทำเว็บและโปรแกรมมิ่ง และงานเขียนและแปลภาษา แม้ว่าเด็กรุ่นใหม่จะชอบความเป็นอิสระ ต้องการเป็นผู้จัดการตนเอง รวมถึงชอบการทำงาน มีความยืดหยุ่นสูง แต่ยังเป็นกลุ่มที่ตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงด้านรายได้ และสวัสดิการ

ดังนั้น ยังพบว่ากลุ่มเด็กรุ่นใหม่จำนวนมากยังคงทำงานในระบบทั้งภาครัฐและเอกชน แต่มีบางส่วนที่ต้องการเพิ่มรายได้ และตอบสนองความชื่นชอบส่วนบุคคล ด้วยการทำอาชีพที่ 2 และพร้อมจะเปลี่ยนไปทำอาชีพอิสระเป็นอาชีพหลักได้เช่นกัน หากสร้างรายได้ได้มากกว่า อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพลวัตความเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของไทยและการเปลี่ยนผ่านสู่การทำงานแบบ NextGen Work โดยสำนักงานสภาพัฒน์ ได้ร่วมกับบริษัทศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด (กรกฎาคม 2562) พบว่า กลุ่มคนที่ทำงานในรูปแบบใหม่ยังไม่มีความตระหนักถึงเรื่องการวางแผนด้านการเงินในอนาคตเท่าที่ควร โดยในกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 18-39 ปี จำนวน 6,255 คน พบว่า ร้อยละ 72 ยังไม่ได้มีการวางแผนเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในยามเกษียณ ภาครัฐจึงต้องศึกษาแนวทางให้สวัสดิการสำหรับการทำงานยุคใหม่ของแรงงานยุคปัจจุบัน


กำลังโหลดความคิดเห็น