กรมสรรพสามิตยังไม่สรุปลดภาษีน้ำมันช่วยสายการบินโลว์คอสต์ โดยให้การบ้านถ้าลดภาษีจะกระตุ้นท่องเที่ยวอย่างไร และกลับมาประชุมกันใหม่อีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตเชิญผู้ประกอบการสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) คือ บางกอกแอร์เวย์ส ไทยแอร์เอเชีย ไทยสมายล์ ไทยเวียทเจ็ทแอร์ การบินไทย และไลอ้อนแอร์ ขาดเพียงนกแอร์ ที่ไม่มาประชุม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ยื่นหนังสือถึงนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอให้พิจารณาลดภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น โดยได้นำข้อเท็จจริงต่างๆ มาพูดคุยกับตัวแทนของบริษัทน้ำมันเครื่องบิน 5 บริษัท คือ ปตท. บางจาก เชลล์ เชฟรอน และซัสโก้ ซึ่งได้ข้อสรุปว่าทางกรมสรรพสามิตขอให้ทางกลุ่มโลว์คอสต์แอร์ไลน์ไปทำข้อมูลมาเสนอในการประชุมครั้งต่อไปในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าว่า ถ้าลดภาษีจะมีการกระตุ้นการท่องเที่ยวได้อย่างไร เกิดประโยชน์กับสาธารณะได้มากน้อยเพียงใด เช่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองได้อย่างไร โดยในการประชุมครั้งหน้าจะเชิญการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมาร่วมประชุมด้วย
ปัจจุบัน โลว์คอสต์แอร์ไลน์กำลังประสบปัญหาขาดทุน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินที่เพิ่มขึ้นจาก 0.20 บาทต่อลิตร เป็น 4.726 บาทต่อลิตร เมื่อปี 2560 ทำให้บางสายการบินต้องทำการลดเที่ยวบิน หรือต้องหยุดบินบางเส้นทางลง
สำหรับการเก็บภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นปัจจุบันอยู่ที่อัตรา 4.726 บาทต่อลิตรนั้น กรมสรรพสามิตมีรายได้ประมาณ 3,500 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับภาษีน้ำมันภาพรวมที่จัดเก็บ 250,000 ล้านบาท ถือว่าสัดส่วนน้อยมาก แต่การที่ต้องปรับขึ้นภาษีเมื่อปี 2560 ก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อระบบขนส่งอื่นมากยิ่งขึ้น
ด้านผู้ประกอบการสายการบินต้นทุนต่ำอย่างนายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบางกอกแอร์เวย์ส มีความเห็นว่า ที่ผ่านมาราคาตั๋วสายการบินไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย แต่ภาษีน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการจะเป็นศูนย์กลางทางด้านการขนส่ง ภาครัฐจะต้องช่วยให้การสนับสนุนด้วย