“รมว.คลัง” รับเศรษฐกิจในปี 62 จะเติบโตต่ำกว่าเป้าที่เคยคาดไว้ก่อนหน้าที่ 2.8% เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำส่งออกไทยรูดและภาคการผลิตได้รับผลกระทบ ย้ำหากมีเหตุจำเป็นก็พร้อมจะออกมาตรการอุ้มเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 4 “ผอ.สศร.” ยันตั้งแต่ต้นปี 62 มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นในกิจการโรงงานกว่า 4.3 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 36.3% สะท้อนภาพรวมการผลิตในอนาคตยังมีแนวโน้มขยายตัว ย้ำจะติดตามประเมินเศรษฐกิจใกล้ชิด และพร้อมพิจารณามาตรการดูแลเศรษฐกิจที่เหมาะสมต่อไป
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงผลการรายงานผลการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 เติบโตที่ 2.4% ของสภาพัฒน์นั้น ถือว่าเป็นการขยายตัวได้สูงกว่าไตรมาส 2 ซึ่งเคยอยู่ที่ 2.3% ขณะที่ตลอดปี 62 นั้นคาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะต่ำกว่าเป้าหมายที่กระทรวงการคลังเคยคาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวได้ 2.8% ซึ่งเป็นการได้รับผลกระทบภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอที่ส่งผลให้การส่งออกหดตัวตามไปด้วย แต่หากในช่วงไตรมาส 4 มีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการมาดูแลแล้วกระทรวงการคลังก็จะต้องดำเนินการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อการส่งออกของไทยที่ต่อเนื่องไตรมาส 3 ยังมีอยู่พอสมควร และคงจะมีผลต่อเศรษฐกิจภายในด้วย โดยเฉพาะในภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ยึดโยงกัน อย่างไรตาม ยังมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 3 นั้นยังเป็นตัวเลขชี้วัดการผลิตด้วยเช่นกันว่า การผลิตในภาคเอกชนยังอยู่ในระดับที่ดี โดยในปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณ 4.3 แสนล้านบาท และหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีเม็ดเงินเข้าสู่การผลิตโรงงานมากกว่าถึง 3.6%
นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนยังเป็นทรงตัว แต่ยังมีสัญญาณบวกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากกรมสรรพากรได้รายงานการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภายในประเทศช่วงไตรมาส 3 สามารถเก็บ VAT ได้ 1.9% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่เคยเก็บได้ 1.5% นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังได้รายงานข้อมูลจัดเก็บ VAT ล่าสุดในเดือน ต.ค.62 นั้นยังเพิ่มขึ้น 6% ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณการการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังเดินหน้าต่อไปได้อีกเล็กน้อย แม้จะถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกที่เศรษฐกิจโลกชะลอลงก็ตาม
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงการลงทุนใหม่จากการประกอบกิจการใหม่และการขยายกิจการของโรงงานเดิมว่า ในช่วง 1 ม.ค. - 12 พ.ย.62 มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นในกิจการโรงงาน 431,216 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 36.3% ซึ่งสะท้อนภาพรวมการผลิตในอนาคตยังมีแนวโน้มขยายตัว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในช่วง 1 ม.ค - 12 พ.ย.62 จะมีกิจการโรงงานจำนวน 1,391 โรงงานที่ยื่นขอปิดกิจการ แต่การขอยื่นประกอบกิจการโรงงานใหม่จะมีถึง 2,889 โรงงาน หรือมากกว่าการขอปิดกิจการ 107% นอกจากนี้ โรงงานที่เปิดอยู่เดิมยังคงมีการขยายกิจการเพิ่มเติมอีก 928 โรงงาน โดยในส่วนของแรงงานถึงแม้ว่ามีการเลิกจ้างงานจากการปิดกิจการ จำนวน 35,533 คน แต่มีการจ้างงานจากการประกอบกิจการใหม่ 84,033 คน และมีการจ้างงานเพิ่มจากการขยายโรงงานอีกจำนวน 84,704 คน
ผู้อำนวยการ สศค. ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานของกระทรวงการคลังติดตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดและเร่งดำเนินการขับเคลื่อนชุดมาตรการด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเร่งรัดการเบิกจ่ายการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 100,000 ล้านบาทภายในสิ้นปี 62 ทั้งนี้ เพื่อให้มาตรการต่างๆ ที่เริ่มในไตรมาส 3 สามารถส่งผลได้อย่างเต็มที่ในไตรมาส 4 โดยกระทรวงการคลังจะประเมินสถานการณ์และแนวโน้มของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะพิจารณามาตรการดูแลเศรษฐกิจที่เหมาะสมต่อไป