บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา จำกัด (มหาชน) หรือ IP เป็นหุ้นใหม่รายล่าสุดในตลาด mai โดยเป็น 1 ในหุ้นน้องใหม่ที่สร้างผลตอบแทนที่ดี แต่ปมการจัดสรรหุ้นประมาณ 40 ล้านหุ้น ให้นักลงทุน 9 ราย ในราคาเพียงหุ้นละ 50 สตางค์ ทำให้เกิดความกังวลว่า นักลงทุนที่ได้รับการจัดสรรหุ้นต้นทุนต่ำจะเทขายหุ้นทำกำไร จนราคาหุ้นผันผวน
IP ดำเนินธุรกิจพัฒนา คิดค้นและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพและนวัตกรรมความงาม โดยนำหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 46 ล้านหุ้น เสนอขายนักลงทุนทั่วไปในราคาหุ้นละ 7 บาท จากราคาพาร์ 50 สตางค์ ก่อนหุ้นเข้าซื้อขาย เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
การซื้อขายวันแรกเป็นไปอย่างคึกคัก โดยเปิดที่ราคา 7.50 บาท ขึ้นไปสูงสุดที่ 9.50 บาท ก่อนจะปิดที่ 9 บาท สูงกว่าจอง 2 บาท หรือสูงกว่าจอง 28.57% มูลค่าการซื้อขายทั้งสิ้น 175.01 ล้านหุ้น หรือ 1,469.14 ล้านบาท
ทุนจดทะเบียน IP มีจำนวน 206 ล้านหุ้น แต่การซื้อขายวันแรกเคาะซื้อขายกัน 175.01 ล้านหุ้น หรือเกือบ 70% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท ซึ่งถือว่ามีปริมาณหุ้นหมุนเวียนซื้อขายจำนวนมาก
และสิ่งที่ถูกจับตาคือ รายการซื้อขายรายใหญ่หรือการทำรายการบิ๊กล็อตจำนวน 25.5 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 7 บาท ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ผู้ถือหุ้นเดิมที่ได้รับการจัดสรรหุ้น 40 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 50 สตางค์ ขนหุ้นออกมาเทขายทำกำไรหรือไม่
ปี 2560 IP ได้นำหุ้นเพิ่มทุนจัดสรรให้นักลงทุน 9 ราย รวมประมาณ 40 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 50 สตางค์ หรือราคาพาร์ จึงมองกันว่า นักลงทุนที่ได้รับการจัดสรรหุ้นต้นทุนต่ำจะเทขายหุ้นออกมา
เพราะในอดีต เคยมีกรณีบริษัท สยามเจเนอรัล แฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SGF ซึ่งได้รับอนุมัติให้กลับมาซื้อขายใหม่ หลังจากถูกพักการซื้อขาย และต้องใช้เวลาฟื้นฟูกิจการประมาณ 9 ปี
ก่อนได้รับอนุมัติกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ SGF ได้จัดสรรหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 1,965 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 9.5 สตางค์ ให้นายสมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล หรือเสี่ยปู่ นักลงทุนรายใหญ่
หุ้น SGF กลับมาซื้อขายวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 โดยเปิดการซื้อขายที่ราคา 69 สตางค์ ขึ้นไปสูงสุดที่ 76 สตางค์ ต่ำสุดที่ 56 สตางค์ ก่อนจะปิดที่ราคา 61 สตางค์
การกลับมาซื้อขายวันแรก ปรากฏว่า เสี่ยปู่นำหุ้นที่ได้รับจัดสรรในราคา 9.5 สตางค์ เทขายจำนวนประมาณ 800 ล้านหุ้น ถอนทั้งทุนและกำไรงามๆ ออกไป
ส่วนหุ้นที่เหลืออีก 800 ล้านหุ้น น่าจะทยอยขายจนเกลี้ยงในวันต่อๆ มา
นักลงทุน 9 รายที่ได้รับการจัดสรรหุ้น IP ในราคาพาร์ จึงอาจเทขายหุ้นทำกำไรตั้งแต่วันแรกที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะถ้าขายเพียงราคา 7 บาท จะมีกำไรประมาณ 1,300% จากการถือหุ้นเพียงประมาณ 2 ปีเท่านั้น
ทำไมผู้บริหาร IP จึงจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนราคาต่ำให้นักลงทุน 9 ราย ซึ่งหลายคนเคยมีชื่อเสียงในฐานะนักลงทุน วี.ไอ. หรือนักลงทุนหุ้นมูลค่าเพิ่ม มีเหตุผลอะไรอยู่เบื้องหลังการนำหุ้นราคาต่ำประเคนให้นักลงทุนทั้ง 9 รายหรือไม่
เคยมีข่าวว่า นักลงทุน วี.ไอ.บางคน เคยได้รับการจัดสรรหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในราคาต่ำ โดยผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนต้องการสร้างภาพให้นักลงทุนทั่วไปเห็นว่า นักลงทุน วี.ไอ.ถือหุ้นบิษัท เพื่อเรียกความเชื่อมั่น และกระตุ้นให้นักลงทุนแห่เข้ามาเก็งกำไรหุ้นตัวเอง
เมื่อหุ้นขึ้นแรง ทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่ และนักลงทุน วี.ไอ. จะขายหุ้นทำกำไร
ส่วนนักลงทุนที่แห่เข้าไปเก็งกำไร เพราะเห็นชื่อนักลงทุน วี.ไอ. เข้าไปถือหุ้น ต้องแบกหุ้นต้นทุนสูงหรือ “ติดหุ้น”
ไม่มีใครบอกได้ว่า ทำไมผู้บริหาร IP จึงจัดสรรหุ้นจำนวนประมาณ 40 ล้านหุ้น ให้นักลงทุน 9 รายนี้ ซึ่งร่ำรวยไปแล้ว เพราะกินส่วนต่างราคาหุ้นไปกว่า 1,000 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากคำนวณราคาหุ้นที่จัดสรร 40 ล้านหุ้น จะมีส่วนต่างกว่า 340 ล้านบาท
IP เข้ามาซื้อขาย 4 วันแล้ว แต่ยังร้อนไม่เลิก ทั้งที่ค่า พี/อี เรโช พุ่งไป 72 เท่าแล้ว ซึ่งถือว่าสูงมาก ราคาที่ซื้อขายจึงเป็นราคาบนความคาดหวังการเติบโตของผลประกอบการ
แต่ถ้าผลประกอบการไม่โตตามที่คาดหวังไว้ หรือกำไรชะลอตัว หุ้น IP ซึ่งทำธุรกิจในลักษณะใกล้เคียงกับบริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ BEAUTY ก็ อาจพบจุดจบเช่นเดียวกับ BEAUTY ได้เหมือนกัน
ช่วงหุ้น BEAUTY ร้อนแรง ผู้ถือหุ้นใหญ่ชิงทยอยขายหุ้นออก โกยกำไรนับพันๆ ล้านบาท
เมื่อมีข่าวการจัดสรรหุ้นราคาต่ำให้นักลงทุนขาใหญ่ นักลงทุนรายย่อยย่อมกังวลเข้าไปแบกรับหุ้นราคาแพงของ IP เป็นธรรมดา