บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL กำลังนำหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน จำนวน 15,000 ล้านบาท ขายนักลงทุน ระหว่างวันที่ 4-7 พฤศจิกายนนี้ และมีความพยายามนำเสนอว่า หุ้นกู้ด้อยสิทธิชุดนี้ จะไถ่ถอนหลังผ่านพ้นไป 5 ปี ทั้งที่อาจไม่มีการไถ่ถอนก็ได้
IVL เคยออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ที่มีลักษณะคล้ายทุนชุดก่อน เมื่อปี 2557 และไถ่ถอนเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 หลังจากครบกำหนด 5 ปีที่ผู้ออกมีสิทธิไถ่ถอน โดยตลอด 5 ปี IVL จ่ายดอกเบี้ยครบถ้วนตามกำหนดเวลา
หุ้นกู้ด้อยสิทธิชุดแรก ถูกนำมาเป็นจุดขาย เพื่อเรียกความมั่นใจให้นักลงทุนจองซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิชุดที่สอง แต่ความพยายามกระตุ้นการขาย กำลังทำให้นักลงทุนเกิดความเข้าใจผิด ในสาระสำคัญของเงื่อนไขหุ้นกู้ด้อยสิทธิ จนเกิดความเสียหายได้
สรุปข้อสนเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของ IVL ระบุว่า หุ้นกู้ฯ ชุดนี้ ไม่มีหลักประกัน ไม่มีการแปลงสภาพ ไถ่ถอนเพียงครั้งเดียวเมื่อเลิกกิจการ แต่ผู้ออกสามารถไถ่ถอนได้ หลังจาก 5 ปี และ สามารถเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ย โดยไม่ถือว่าผิดเงื่อนไข กำหนดอัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี และจ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน
ดังนั้น หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่กำลังเปิดให้ประชาชนจองซื้อผ่านธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งในขณะนี้ จึงสามารถเป็นหุ้นกู้ชั่วนิรันดร หรือหุ้นกู้ตลอดชาติได้ เพราะอาจไม่มีการไถ่ถอน ถ้าผู้ออกหรือ IVL ไม่ใช้สิทธิไถ่ถอนหลังจากมีอายุครบ 5 ปี และสามารถเลื่อนชำระดอกเบี้ยได้โดยไม่ผิดเงื่อนไข หาก IVL มีปัญหาฐานะทางการเงิน
การลงทุนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิ IVL จึงมีความเสี่ยงสูง เสี่ยงที่เงินลงทุนจะจมไปตลอดชาติ และเสี่ยงที่จะไม่ได้รับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยทุก 3 เดือนตามที่กำหนดไว้
เสียงเตือนให้ระมัดระวังการลงทุนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน หรือ PERPETUAL BOND ดังขึ้นมาหลายสัปดาห์ก่อนหน้า เพราะความเสี่ยงจากเงินต้นที่จะจมไปตลอดชาติ และความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามกำหนด
แต่สื่ออิเล็กทรอนิกส์บางสำนักพยายามทำตัวเป็นกระบอกเสียงของ IVL โดยโน้นน้าวให้เห็นว่า IVL มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และหยิบยกหุ้นกู้ด้อยสิทธิชุดก่อน เพื่อทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อว่า เมื่อครบกำหนด 5 ปี IVL จะไถ่ถอนหุ้นกุ้ชุดใหม่ เหมือนหุ้นกู้ชุดก่อน และหยิบยกประวัติการจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ชุดก่อน เพื่อเรียกความมั่นใจนักลงทุน
แต่มีคำถามว่า ถ้า IVL ตั้งใจจะไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิชุดใหม่ หลังจากครบกำหนด 5 ปี ทำไมไม่ออกหุ้นกู้ปกติ และกำหนดระยะเวลาการไถ่ถอนเมื่อมีอายุครบ 5 ปี ทำไมต้องออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ และเปิดเงื่อนไขพร้อมจะเป็นหุ้นกู้ตลอดชาติได้
IVL ไม่มั่นใจว่าใน 5 ปีข้างหน้า จะไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิวงเงิน 15,000 ล้านบาทชุดนี้ใช่หรือไม่
ในช่วง 2 เดือนสุดท้าย จะมีบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ 4 แห่ง ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนเช่นเดียวกับ IVL วงเงินระดมทุนรวมกันประมาณ 40,000 ล้านบาท โดย IVL เป็นบริษัทจดทะเบียนแห่งแรกที่นำร่อง
แผนการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ชั่วนิรันดร หรือหุ้นกู้ตลอดชาติ วงเงิน 15,000 ล้านบาทของ IVL จะมีกระแสตอบรับจากนักลงทุนอย่างใด หุ้นกู้จะขายได้หมดหรือไม่ กำลังเป็นที่จับตา
แต่เหนือสิ่งอื่นใด หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ยังเป็นตราสารหนี้ที่ประชาชนทั่วไปไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ดีพอ นักลงทุนส่วนใหญ่อาจไม่ได้รับรู้ถึงความเสี่ยงที่จะไม่มีการไถ่ถอน และความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระดอกเบี้ยตามกำหนด
ยิ่งมีความพยายามโน้มน้าวว่า หลังครบกำหนด 5 ปี จะมีการไถ่ถอน หรือนำสถิติการจ่ายดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอในอดีตมาเป็นจุดขาย ยิ่งจะทำให้นักลงทุนเกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของหุ้นกู้ประเภทนี้
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลตราสารหนี้ และเป็นผู้อนุมัติให้ IVL ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิระดมเงินจากประชาชน 15,000 ล้านบาท จึงต้องติดตามการเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการส่งเสริมการขาย โดยนำเสนอข้อมูลที่เกินจริง ทำให้นักลงทุนมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในสาระสำคัญของหุ้นกู้ จนนำไปสู่การตัดสินลงทุนที่ผิดพลาด
ความจริง ก.ล.ต. ควรประกาศเตือนให้นักลงทุนศึกษาข้อมูลหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนอย่างรอบคอบ ก่อนตัดสินใจลงทุนเสียด้วยซ้ำ
เพราะตราสารหนี้ประเภทนี้ มีความเสี่ยงที่อาจไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่คาดหวัง และเงินลงทุนอาจต้องจมไปกับ IVL ทั้งชาติ