xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.เตรียมปรับเกณฑ์การอนุญาตขายหุ้น IPO ของ holding company เพิ่มความยืดหยุ่นจัดโครงสร้างทางธุรกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ก.ล.ต.เตรียมปรับเกณฑ์การอนุญาตขายหุ้น IPO ของ holding company เพิ่มความยืดหยุ่นจัดโครงสร้างทางธุรกิจ และไม่เป็นภาระเกินควร

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการและร่างประกาศในการปรับปรุงเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการอนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ (IPO) และการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (holding company) เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการจัดการโครงสร้างทางธุรกิจที่เหมาะสมยิ่งขึ้นและไม่เป็นภาระเกินควร ด้านการเปิดเผยข้อมูล โดยกำหนดให้มีกลไกการกำกับดูแลผ่าน "บริษัทย่อยที่เป็นศูนย์กลางฯ" สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงมีแนวคิดปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่และการเปิดเผยข้อมูล กรณีเป็น holding company ที่มีโครงสร้างทางธุรกิจหลากหลายประเภท และในแต่ละธุรกิจประกอบด้วยบริษัทย่อยจำนวนมาก ด้วยเหตุผลทางกฎหมายหรือทางการค้าที่สอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจของ holding company เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและไม่สร้างภาระเกินควร โดยปรับปรุงในสาระสำคัญ ดังนี้

เนื่องด้วยที่ผ่านมามีบริษัทที่ขออนุญาตเสนอขายหุ้นต่อประชาชน (บริษัท IPO) หลายรายที่มีลักษณะเป็น holding company ซึ่งมีการประกอบธุรกิจที่หลากหลายประเภทธุรกิจ และในแต่ละธุรกิจประกอบไปด้วยบริษัทย่อยจำนวนมากที่จัดตั้งขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยมีบริษัทย่อยที่เป็นศูนย์กลางทำหน้าที่กำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินธุรกิจ ให้กับบริษัทย่อยและบริษัทร่วมที่อยู่ภายใต้ศูนย์กลางนั้น หรือเรียกว่า "บริษัทย่อยที่เป็นศูนย์กลางฯ" ขณะที่เกณฑ์ปัจจุบันกำหนดให้บริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักทั้งหมดจะต้องมีคุณสมบัติและเปิดเผยข้อมูลในแบบ filing* และแบบ 56** เช่นเดียวกับบริษัท IPO ซึ่งอาจสร้างภาระให้บริษัทดังกล่าวเกินความจำเป็น

(1) บริษัทที่ต้องมีคุณสมบัติและเปิดเผยข้อมูลเช่นเดียวกับบริษัท IPO ได้แก่ บริษัทย่อยที่เป็นศูนย์กลางฯ เท่านั้น โดยไม่รวมถึงบริษัทย่อยที่อยู่ภายใต้ "บริษัทย่อยที่เป็นศูนย์กลางฯ"

(2) บริษัทย่อยและบริษัทร่วมที่ประกอบธุรกิจหลักและอยู่ภายใต้บริษัทย่อยที่เป็นศูนย์กลางฯ ทุกบริษัทรวมกันต้องมีขนาดไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของบริษัทย่อยที่เป็นศูนย์กลางฯ นั้น

(3) บริษัทย่อยที่เป็นศูนย์กลางฯ ต้องมีกลไกการกำกับดูแลบริษัทย่อยที่อยู่ภายใต้ตนเอง โดยกลไกดังกล่าวต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการของ holding company และมีมาตรการที่ทำให้มั่นใจได้ว่าจะมีการพิจารณาความเพียงพอและเหมาะสมของกลไกทุกปี

ทั้งนี้ ก.ล.ต.ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=581 ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail corporat@sec.or.th หรือโทรสาร 0-2263-6502 จนถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2562


กำลังโหลดความคิดเห็น