เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ยันแผนซื้อกิจการ (M&A) ยังไม่มีความชัดเจน อาจต้องต้องชะลอหรือเลื่อนออกไปก่อนจนถึง ไตรมาสที่ 1/2562 ถึงจะได้ข้อสรุป ชี้บริษัท ฯ ได้รับอานิสงส์จากอัตราแลกเปลี่ยนที่รัฐควบคุมดูแลค่าเงินในระดับดี ไม่หวั่นสงครามการค้าเพราะยังเป็นแค่การข่มขู่หยั่งเชิงกันเท่านั้น พร้อมทุ่มงบขยายฐานการตลาดในสหรัฐ และเพิ่มกำลังการผลิตในอินเดียรองรับความต้องการของตลาดในอนาคต
นายอนุสรณ์ มุทราอิศ กรรมการบริหาร บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA กล่าวว่า ในส่วนของแผนการลงทุนเพื่อเข้าซื้อกิจการ (M&A) ระหว่างบริษัทฯ และ Delta Electronics International (Singapore) Pte. Ltd. (DEISG) นั้น อาจจะต้องชะลอหรือเลื่อนออกไปก่อน เพราะต้องรอดูความชัดเจนของ DEISG ที่จะยื่นเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัทผ่านการทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทโดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไข ซึ่งคาดว่ากระบวนการทั้งหมดยังไม่มีความชัดเจนในขณะนี้ และคาดว่าจะสามารถสรุปเงื่อนไขรายละเอียดครบถ้วนได้ในไตรมาสที่ 1/2562 โดย DEISG ยืนยันจะไม่นำหุ้น DELTA ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังการทำคำเสนอซื้อดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในส่วนของเป้าหมายผลประกอบการบริษัทนั้น ในปีนี้บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้และกำไรสุทธิไว้ที่การเติบโตไม่น้อยกว่า 10% จากปีก่อน ซึ่งมีรายได้รวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 4.93 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามเชื่อว่าไตรมาส 3/2561 บริษัทประเมินว่า ผลการดำเนินงานจะออกมาดีกว่าไตรมาส 2/2561 เนื่องจากต้นทุนด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่ลดลงหลังเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า
“บริษัทฯ มองว่าการที่รัฐบาลพยายามควบคุมดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบกับยอดขายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากออเดอร์ที่มาจากสหรัฐและยุโรป อีกทั้งมีรายการพิเศษที่รอรับรู้ในไตรมาสที่ 3/61 อีกไม่เกิน 50 ล้านบาท จะเป็นอานิสงส์บวกต่อรายได้และกำไรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแผนการขยายธุรกิจในต่างประเทศนั้น บริษัทมีแผนจะขยายตลาดเพิ่มในประเทศสหรัฐฯ นอกเหนือจากที่มีอยู่เดิม โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ ประมาณ 20% เนื่องจากประเมินว่า ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะทำให้ผลิตภัณฑ์จากจีนจะถูกขนย้าย (relocated) และย้ายฐานการผลิตมาในไทยมากขึ้น อย่างไรก็ดี อาจจะต้องจับตาดูการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนของสหรัฐฯ ก็จะส่งผลให้สินค้าจากจีนมีมูลค่าสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการในสหรัฐฯ จะมองหาผู้ผลิต (supplier) ที่มีราคาต่ำกว่า
“สถานการณ์ความขัดแย้งที่เป็นชนวนสงครามการค้าในขณะนี้ ยังเป็นแค่การข่มขู่หยั่งเชิงกันเท่านั้น หากเกิดขึ้นจริง บริษัทฯ ก็พร้อมปรับตัวไปตามสถานการณ์ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน โดยเริ่มมีสัญญาณการเปลี่ยนฐาน supplier มาบ้าง”
นอกจากนี้ ในส่วนของงบลงทุนในการพัฒนาธุรกิจในปีนี้ ซึ่งบริษัทตั้งเป้าไว้ที่ไม่เกิน 1 พันล้านบาท โดยจะใช้สำหรับการปรับปรุงการผลิตและขยายกำลังการผลิต ซึ่งปัจจุบัน บริษัทมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ระดับ 80% และสามารถเพิ่มขึ้นไปเป็นกว่า 100% ได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมองโอกาสในการเพิ่มจำนวนเวลาทำงานของพนักงานในวันเสาร์-อาทิตย์ และการทำล่วงเวลา (OT) แต่ต้องไม่เกินมาตรฐานที่ยุโรปกำหนดเพื่อการส่งออก คือ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ มีแผนการขยายฐานการผลิตในอินเดีย เพื่อการส่งออกจากเดิมที่สายการผลิตส่วนใหญ่ยังอยู่ในไทย โดยปัจจุบัน ในอินเดียมีการผลิตเพื่อขายในประเทศเพียงอย่างเดียว และยังมีกำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อการส่งออก ซึ่งรัฐบาลมีการส่งมอบที่ดินแล้วกว่า 50% และจะเริ่มก่อสร้างโรงงานในอินเดียต่อไป