xs
xsm
sm
md
lg

“เฟซบุ๊ก” ถูกฟ้องคดีหุ้นตก / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หุ้นบริษัท เฟซบุ๊ก อิงค์ จำกัด ถูกถล่มขายอย่างหนักเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากบริษัทเปิดเผยตัวเลขที่น่าตกใจเกี่ยวกับการเติบโตทางธุรกิจที่ช้าลง และจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ลดลง จนนำไปสู่การฟ้องร้อง นายมาร์ก เอลเลียต ซักเคอร์เบิร์ก ผู้บริหาร ในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัท รวมทั้งเจ้าหน้าที่หัวหน้าฝ่ายการเงิน



ข้อกล่าวหาของผู้ถือหุ้นที่ฟ้องนายมาร์ก และหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินเฟซบุ๊กคือ การออกแถลงการณ์ทำให้เข้าใจผิดหรือปกปิดข้อมูลการเติบโตที่ช้าลง และจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ลดลง ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายรัฐบาลกลางสหรัฐ โดยไม่มีข้อมูลว่า ยอดการเรียกร้องความเสียหายในคดีเป็นเงินเท่าไหร่


ราคาหุ้นบริษัท เฟซบุ๊ก ในวันที่ 26 กรกฎาคมเพียงวันเดียวลงไป 19% และ หุ้นที่ทรุดตัวลง ทำให้นายมาร์ก หลุดจากอันดับเศรษฐีรวยที่สุดเบอร์ 4 ของโลก โดยนิตยสารฟอร์บส์ล่าสุด จัดให้อยู่ในอันดับ 6 ด้วยทรัพย์สินมูลค่า 66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ


และรายงานจากบิสซิเนส อินไซเดอร์ระบุว่า เฟซบุ๊กต้องจ่ายค่ารักษาความปลอดภัยให้นายมาร์กและครอบครัวปีละ 10 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 330 ล้านบาท) หรือวันละประมาณ 27,000 ดอลลาร์ แต่เป็นการจ่ายที่สมเหตุสมผล

เพราะนายมาร์ก รับเงินเดือนปีละ 1 ดอลลาร์ โดยไม่มีโบนัสหรือหุ้นปันผลตอบแทน

การฟ้องผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ เป็นคดีที่เกิดขึ้นบ่อย โดยเฉพาะกรณีที่ผู้บริหารทำให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทในวงเงินสูง


ส่วนตลาดหุ้นไทย แม้จะมีหลายกรณีที่ฝ่ายบริหารบริษัทจดทะเบียน สร้างความเสียหายร้ายแรงกับบริษัท หรือปกปิดอำพรางข้อมูลที่มีนัยยะสำคัญ แต่ไม่มีคดีฟ้องร้องกันมากนัก หรือมีคดีบ้าง แต่โทษปรับไม่รุนแรง


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เคยลงโทษปรับ 3 ผู้บริหารบริษัท โพลารีส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) หรือ POLAR

ที่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลการถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และถือเป็นข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน

โดยปรับรายละ 2 ล้านบาท แต่ผู้บริหารบริษัทปฏิเสธการจ่าย ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินคดีในทางแพ่ง

กรณีที่ผู้ถือหุ้น ลุกฮือขึ้นมาทวงสิทธิของตัวเอง ฟ้องร้องผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ในความผิดต่อการจงใจปกผิดข้อมูล หรือจงใจเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริง ทำให้นักลงทุนสำคัญผิดในข้อมูล จนเกิดการตัดสินใจที่พลาด นำไปสู่ความเสียหาย เกิดเป็นคดีฟ้องร้องกันน้อยมาก เพราะคดีการฟ้องร้องผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ต้องเสียเงิน ต้องเสียเวลา และบางทีไม่คุ้มกับยอดความเสียหาย ฝ่ายบริหารบริษัทจดทะเบียนจึง “ได้ใจ” ไม่กลัวการกระทำความผิด

และแม้จะถูกฟ้อง แต่ก็มีเงินพร้อมจ้างทนายดีสู้คดี หรือตั้งทนายบริษัทที่กินเงินเดือนผู้ถือหุ้น สู้กับผู้ถือหุ้นเสียอีก

มีความพยายามผลักดันกฎหมาย เพื่อให้มีองค์กร ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของนักลงทุน ฟ้องผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ที่สร้างความเสียหายให้บริษัทหรือผู้ถือหุ้น แต่มีการเคลื่อนไหวผลักดันกันมานับสิบปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายออกมารองรับองค์กรที่จะทำหน้าที่ปกป้องดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อย


บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งที่ผู้บริหาร ก่อความเสียหายร้ายแรง จนถึงขั้นบริษัทต้องล่มสลาย ผู้เสียหายนับหมื่น ๆ รายต้องได้รับความเสียหาย จากพฤติกรรมที่เข้าข่ายการทุจริต ผู้ถือหุ้นรายย่อยต้องดิ้นรนช่วยเหลือตัวเอง รวมตัวกันเคลื่อนไหว รวมตัวกันฟ้องร้อง รวมตัวกันเรียกประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ โดยหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรง ไม่สามารถปัดเป่าทุกข์ของนักลงทุนได้

การฟ้อง "มาร์ก เอลเลียต ซักเคอร์เบิร์ก"  ซีอีโอเฟซบุ๊ก ฐานทำให้เข้าใจผิดหรือปกปิดข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อราคาหุ้น

และราคาหุ้นลดลงอย่างรุนแรง หลังข้อเท็จจริงถูกตีแผ่ เป็นคดีที่สะท้อนให้เห็นถึงกฎหมาย ซึ่งตระหนักถึงการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ลงทุน โดยเปิดทางให้ผู้ถือหุ้นเล่นงานฝ่ายบริหารที่มีพฤติกรรมไม่โปร่งใสได้


ถ้าผู้ถือหุ้นในตลาดหุ้นไทย ถูกจัดให้เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญ โดยผลประโยชน์ได้รับการปกป้องดูแลอย่างดี และมีกฎหมายเอื้อให้ดำเนินคดีกับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่ฉ้อโกงนักลงทุน

ตลาดหุ้นไทยคงน่าลงทุนขึ้นอีกเยอะ เพราะนักลงทุนไม่ต้องคอยกังวลว่า ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนแห่งไหนโกงกันบ้าง

(สั่งจองหนังสือ “หุ้นวายร้าย” ราคาเล่มละ 190 บาท จากราคาเต็ม 240 บาท โทร. 0-2629-2700 , 08-2782-8353 , 08-2782-8356 )

(สั่งจองหนังสือ “หุ้นวายร้าย” ราคาเล่มละ 190 บาท จากราคาเต็ม 240 บาท โทร. 0-2629-2700 , 08-2782-8353 , 08-2782-8356 )


กำลังโหลดความคิดเห็น