ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล อดีตประธานกรรมการบริหาร และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งในบริษัทฯ
โดยเบื้องหลังการลาออก เนื่องจากถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับเป็นเงิน 80 ล้านบาท ในความผิดปั่นหุ้น
ปลายสัปดาห์ ก.ล.ต. ได้ยืนยันข่าว โดยประกาศดำเนินคดีทางแพ่ง ปรับนายสิทธิชัย พร้อมพวกรวม 24 คน เป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 172.14 ล้านบาท ในความผิดฐานสร้างราคาหุ้น MILL ระหว่างวันที่ 21 มีนาคม - 3 มิถุนายน 2557 หรือประมาณ 4 ปีก่อน
นายสิทธิชัยและนางสาวธนิกา ตั้งพูนผลวิวัฒน์ เป็นตัวการหลัก ถูกปรับรายละ 81.98 ล้านบาท ส่วนผู้ร่วมขบวนการอีก 5 ราย ถูกปรับรายละ 5 แสนบาท ส่วนที่เหลืออีก 17 คน ถูกปรับรายละ 333,333.33 บาท โดยนายสิทธิชัย ถูกห้ามเป็นกรรมการ และ ผู้บริหารบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ และบริษัทจดทะเบียนเป็นเวลา 3 ปี
ส่วนโทษปรับ ทุกรายยินยอมจ่าย เพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดีอาญาในหลายข้อหา
นายสิทธิชัยเป็นหลานชายของ นายสมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล อดีตผู้บริหาร บริษัท จี สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ GSTEL ซึ่งถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษในความผิดเดียวกันเมื่อหลายปีก่อน
ดูจากยอดค่าปรับแล้ว การปั่นหุ้น MILL ทั้งนายสิทธิชัย และ นางสาวธนิกา คงโกยเงินไปไม่น้อยเหมือนกัน เพียงแต่ไม่รู้ยอดแน่ชัดว่าเท่าไหร่ แต่ความมั่นคั่งที่เก็บเกี่ยวไป อาจไม่คุ้ม โดยเฉพาะนายสิทธิชัย
เพราะชื่อเสียงยับเยิน และเป็นตราบาปไปตลอดชีพ
หุ้น MILL เข้าจดทะเบียนเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2550 หลังจากนำหุ้นเสนอขายนักลงทุนทั่วไปในราคาหุ้นละ 2.90 บาท โดยผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี ชะลอตัวต่อเนื่อง โดยกำไรลดลง 3 ปีติดต่อ รวมทั้งไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งมีกำไรสุทธิ 52.68 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 110.72 ล้านบาท โดยมีค่า พี/อี เรโช สูงมากถึง 82.28 เท่า
ผู้ถือหุ้นรายย่อยมีจำนวนทั้งสิ้น 3,266 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 34.69 % ของทุนจดทะเบียน ขณะที่นายสิทธิชัยถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 34.95 % ของทุนจดทะเบียน
ก.ล.ต.ใช้เวลารวบรวมข้อมูลหลักฐาน พิจารณาความผิด เจรจากับกลุ่มนายสิทธิชัย ทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 4 ปี จึงจะสรุปสำนวน ก่อนปิดคดีปั่นหุ้น MILL ซึ่งถือเป็นคดีปั่นหุ้นกรณีล่าสุด
พฤติกรรมการปั่นหุ้นในปัจจุบันเริ่มจางหายไป เพราะแก๊งมิจฉาชีพในตลาดหุ้นเปลี่ยนรูปแบบการทำมาหากินใหม่ โดยปล้นผู้ถือหุ้นเงียบ ๆ ด้วยวิธีการไซฟ่อนเงิน ผ่านการซื้อหรือขายทรัพย์สินที่สูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริง หรือสูบเงินผู้ถือหุ้นรูปแบบต่าง ๆ ซึ่ง ก.ล.ต.ตามไล่ไม่ทัน
บางทีรู้ทั้งรู้ว่า ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนแห่งใดบ้างที่สร้างธุรกรรมตบตา เพื่อผ่องถ่ายเงิน แต่ ก.ล.ต. ขาดหลักฐานที่จะกล่าวโทษ ทำให้แก๊งมิจฉาชีพได้ใจ ผ่องถ่ายเงินออกจากบริษัทจดทะเบียนนับสิบแห่ง
และบางแห่งปล้นกันจนบริษัทเจ๊ง ต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ
การปั่นหุ้น นับวันจะเป็นวิธีการที่ล้าสมัย เสี่ยงถูกจับได้ และการปั่นหุ้นสมัยนี้ไม่ง่ายแล้ว เพราะตลาดหลักทรัพย์ และ ก.ล.ต.หูตาไวขึ้น ไม่ปล่อยให้ปั่นหุ้นกันเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน จึงออกมาตรการกำกับดูแลเหมือนอดีต
แก๊งมิจฉาชีพจึงหาช่องทางอื่นที่เสี่ยงน้อยกว่า เช่นการสร้างธุรกรรมเพื่อผ่องถ่ายเงิน การสร้างข่าวเพื่อกระตุ้นราคาหุ้น โดยมีกระบวนการเชียร์หุ้น จัดตั้งนักวิเคราะห์หุ้นเป็นตัวชี้นำ และอาจมีสื่อช่วยประโคมข่าว ซึ่งปัจจุบันยังปฏิบัติการกันอยู่
แต่การหากินกับการเชียร์หรือชี้นำหุ้นชักฝืดเคืองเหมือนกัน เพราะนักลงทุนเริ่มรู้ทันพวกที่ตั้งตัวเป็นกูรูหุ้นทั้งหลาย เที่ยวใบ้หุ้นรายตัว อวดอ้างว่ามีหุ้นทีเด็ด ซึ่งล้วนแต่ขี้โม้
นายสิทธิชัยและพวกรวม 24 คน อาจเป็นขบวนการปั่นหุ้นแก๊งท้าย ๆ แล้ว เพราะการปั่นหุ้น จะค่อย ๆล้มหายตายจาก เพราะเงื่อนไขไม่อำนวย และสถานการณ์การลงทุนเปลี่ยนไป
การปั่นหุ้น กลายเป็นเรื่องตกยุคตกสมัยไปแล้ว รวมทั้งคดีปั่น MILL เพียงแต่นายสิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล ต้องก้มหน้ารับชะตากรรมกับพฤติกรรมที่ก่อไว้เท่านั้น
(สั่งจองหนังสือ “หุ้นวายร้าย” ราคาเล่มละ 190 บาท จากราคาเต็ม 240 บาท โทร. 0-2629-2700 , 08-2782-8353 , 08-2782-8356 )