สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างพิจารณา ลงโทษกรรมการบริษัทจดทะเบียน 2 แห่ง ที่มีสภาพตายซาก ฐานไม่ทำหน้าที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น และอาจเป็นกรณีตัวอย่าง ที่จะนำไปสู่การวางบรรทัดฐาน ควบคุมดูแลกรรมการบริษัทจดทะเบียนทั้งระบบ
บริษัทจดทะเบียน 2 แห่งที่ ก.ล.ต.เตรียมลงโทษกรรมการ ประกอบด้วย บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC และบริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ IEC
นายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ IFEC ถูก ก.ล.ต. วินิจฉัยว่า มีพฤติกรรมขัดขวาง และ ไม่อำนวยความสะดวกในการจัดประชุมผู้ถือหุ้น
เพื่อเลือกตั้งกรรมการใหม่ ส่งผลให้บริษัท ฯ ไม่สามารถแก้ปัญหาที่มีความสำคัญและเร่งด่วน เข้าไปข่ายปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรา 89/7 ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
และ ก.ล.ต. เปิดโอกาสให้นายศุภนันท์ชี้แจงข้อมูล ก่อนจะพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายภายในวันที่ 12 กรกฏาคมนี้
ขณะที่ นายภูริช นานาวราทร และ พล.ท.วัฒนา เพ็ชรมงคล กรรมการ IEC มีพฤติกรรมเข้าข่ายความผิดตามมาตราเดียวกัน โดยไม่ร่วมประชุมคณะกรรมการบริษัท เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนของกิจการ ไม่ว่าการแต่งตั้งผู้สอบบัญชี การแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน การแก้ไขเหตุแห่งการอาจถูกเพิกถอนจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน
และการพิจารณาข้อเรียกร้องของผู้ถือหุ้นในการเปิดประชุมผู้ถือหุ้น ก.ล.ต.ขอให้ นายภูริช และ พล.ท.วัฒนา ชี้แจงข้อมูลการปฏิบัติหน้าที่ ภายในวันที่ 12 กรกฏาคมนี้ เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการตามอาจหน้าที่ของ ก.ล.ต.ต่อไป
การพิจารณาลงโทษกรรมการของ IFEC ถือเป็นสิ่งที่ชอบ เพราะการแก้ปัญหาบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ที่ยืดเยื้อมาประมาณ 1 ปีครึ่ง เนื่องจากไม่สามารถเปิดประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อคัดเลือกกรรมการชุดใหม่ได้ โดยนายไพโรจน์ พยายามประวิงเวลา และขัดขวางทุกวิถีทาง
แม้ ก.ล.ต. จะสั่งให้เร่งแก้ปัญหาหลายครั้ง แต่นายไพโรจน์ดื้อแพ่งมาตลอด ทำให้ผู้ถือหุ้น IFECจำนวนกว่า 30,000 รายได้รับความเสียหาย
เช่นเดียวกับ 2 กรรมการ IEC ซึ่งไม่ยอมเข้าประชุมคณะกรรมการบริษัทถึง 3 ครั้งติดต่อ ทั้งที่บริษัท ฯ มีปัญหาเร่งด่วนที่ต้องพิจารณาแก้ไข เพื่อคลี่คลายความเดือดร้อนของผู้ถือหุ้นจำนวนกว่า 26,000 ราย
นายภูริช และ พล.ท.วัฒนา กินเงินเดือนของผู้ถือหุ้น IEC มีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์และแก้ปัญหาในฐานะตัวแทนผู้ถือหุ้น ไม่ใช่เพียงมีตำแหน่งไว้อวดสังคม และรับเงินเดือนโดยไม่ทำงาน เพราะเมื่อไม่ทำหน้าที่ ก็ไม่ควรจะนั่งเป็นกรรมการ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจดทะเบียนใด
ไม่บ่อยนักที่ ก.ล.ต.จะออกมาไล่บี้ การทำหน้าที่ของกรรมการบริษัทจดทะเบียน และถ้าไม่ก่อพฤติกรรมที่สร้างความเสียหายร้ายแรงให้ผู้ถือหุ้น มักจะไม่ค่อยได้เห็นกรรมการบริษัทจดทะเบียนถูก ก.ล.ต.ลงโทษ
แต่สำหรับกรรมการ IFEC และ IEC ซึ่งไม่ตระหนักในบทบาทหน้าที่ ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ ในการปกป้องผลประโยชน์ หรือแก้วิกฤตของผู้ถือหุ้น ก.ล.ต.ปล่อยให้ลอยนวลต่อไปไม่ได้ โดยเฉพาะนายศุภนันท์ ซึ่งแสดงพฤติกรรมให้เห็นชัดว่า เป็น “ตัวถ่วง” ในการกู้วิกฤต IFEC ตลอด
และอาจเป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้บริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ตกอยู่ในสภาพล่มสลายด้วยก็ได้ และยังมีกรรมการบริษัทจดทะเบียนอีกหลายแห่ง ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่ดูแลปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ แต่เป็นกรรมการในฐานะ “นอมินี” ตัวแทนของผู้ถือหุ้นเพียงบางคนหรือบางกลุ่ม ทำหน้าที่รับใช้ หรือปกป้องผู้ถือหุ้นคนที่ทาบทามและผลักดันเข้ามารับตำแหน่งเท่านั้น
รวมทั้งร่วมกันกระทำความผิด และทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยได้รับความเสียหาย ซึ่งหวังว่า ก.ล.ต.จะรุกคืบในการตรวจสอบ กำกับดูแล และลงโทษกรรมการบริษัทจดทะเบียนที่ไร้สำนึกในความรับผิดชอบต่อประชาชนผู้ลงทุน
การเชือด 1 กรรมการ IFEC และอีก 2 กรรมการ IEC อาจเป็นจุดเริ่มต้น ของความเข้มข้นการกำกับการปฏิบัติงานของกรรมการบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด และเป็นจุดเริ่มต้นการลงโทษกรรมการบริษัทจดทะเบียนที่ไร้สำนึก ด้านธรรมาภิบาลอย่างจริงจังก็ได้
(สั่งจองหนังสือ “หุ้นวายร้าย” ราคาเล่มละ 190 บาท จากราคาเต็ม 240 บาท โทร. 0-2629-2700 , 08-2782-8353 , 08-2782-8356 )