xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 2 โมเดลอาคารชุดพักอาศัยโฉมใหม่ “แฟลตต่อเติมได้” และ “แฟลตเกษตรยั่งยืน” รับสังคมไทยในอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟลตต่อเติมได้
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีความแออัดเป็นอย่างมาก จากจำนวนประชากรที่มีตัวเลขสูงราว 5.7 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะที่เนื้อที่ของ กทม. มีพื้นที่เพียง 1,569 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) เท่านั้น ส่งผลให้ใน กทม. มีอัตราความหนาแน่นของประชากรสูงราว 3,700 คนต่อ ตร.กม. จากความหนาแน่นดังกล่าว ส่งผลให้ประชากรโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยต้องประสบปัญหาเชิงพื้นที่ในที่พักอาศัย จากลักษณะที่พักอาศัยแนวตั้ง (Vertical Social Housing) ที่มีพื้นที่เฉลี่ยของที่พักอาศัย เช่น อาคารชุด แฟลต และบ้านเอื้ออาทร คือ ราว 33 ตร.ม.ต่อห้อง อีกทั้งยังไม่สามารถต่อเติมได้ จึงอาจไม่สอดคล้องต่อวิถีชีวิตแบบครอบครัวขยายของชาวไทย

“แฟลตต่อเติมได้” ต่อเติมเพิ่มพื้นที่รองรับวิถีชีวิตชาวไทย

นายภูเมศวร์ มะลิทองพงษ์กุล นักศึกษาระดับปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (มธ.) กล่าวว่า จากปัญหาความแออัดในที่พักอาศัยของผู้มีรายได้น้อย จึงเป็นที่มาของการร่วมมือกับสมาชิกในกลุ่มอีก 2 คน นำข้อมูลจากงานวิจัยของอาจารย์ที่ปรึกษาและการศึกษาในชั้นเรียนมาออกแบบ “แฟลตต่อเติมได้” ที่พักอาศัยผู้มีรายได้น้อยแบบปรับเปลี่ยนต่อเดิมได้ (Transformable Social Housing) งานออกแบบเคหะชุมชน (Social Housing) ที่มีความสามารถในการต่อเติมได้ เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนสมาชิกในครอบครัวในอนาคต โดยมีลักษณะเด่น 3 ส่วน ได้แก่

1) แกนบ้าน (Core House) เพื่อความสามารถในการต่อเติมตัวบ้านได้ทุกทิศโดยรอบ ทั้งด้านข้าง ด้านบน และด้านล่าง แต่ยังคงมีช่องแสงสำหรับรับแสงธรรมชาติและช่องว่างเพื่อการถ่ายเทอากาศ โดยส่วนที่ต่อเติมนั้นจะเป็นการนำโครงสร้างรูปแบบลูกบาศก์สำเร็จรูปนำมาต่อเติมจากแกนบ้านได้ทันทีคล้ายกับตัวต่อเลโก้ (Lego) ซึ่งสามารถต่อเติมได้จำนวนมากน้อยตามความเหมาะสมของจำนวนผู้อยู่อาศัย

2) ชานบ้าน ลักษณะคล้ายคลึงกับเรือนไทย เพื่อใช้เป็นทางเชื่อมส่วนต่างๆ ของบ้าน เช่น ห้องนอน ห้องครัว และสวน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับกิจกรรมอเนกประสงค์ของสมาชิกในครอบครัว

3) วัสดุที่ใช้ก่อสร้าง จะมีคุณสมบัติน้ำหนักเบา ง่ายต่อการต่อเติมมีความแข็งแรงคงทน และยังคงมีราคาที่ไม่สูงนัก เช่น การนำเหล็กขึ้นรูปลอน มาใช้เป็นวัสดุทำหลังคา พื้น และผนัง

นายภูเมศวร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้นแบบการออกแบบโครงสร้างอาคารชิ้นนี้มีความตั้งใจให้องค์กรจากภาครัฐที่มีหน้าที่ดูแล และพัฒนาที่อยู่อาศัยของประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย เช่น การเคหะแห่งชาติ (กคช.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) รวมทั้งบริษัทอสังหาริมทรัพย์จากภาคเอกชน ได้นำแนวคิดดังกล่าวไปใช้พัฒนาที่พักอาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในอนาคต เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านที่พักอาศัยของผู้มีรายได้น้อย และมีความสอดคล้องต่อวิถีชีวิตของชาวไทย อีกทั้งเพื่อเป็นการสร้างสังคมและสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่ผู้อยู่อาศัยอีกด้วย
แฟลตเกษตรยั่งยืน
“แฟลตเกษตรยั่งยืน” ตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงชีพยั่งยืน

ด้าน นายกานต์ภูชิต วิศิษฎ์วงศ์ นักศึกษาระดับปริญญาโท คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มธ. กล่าวว่า อีกหนึ่งปัญหาในเขตเมืองมักพบเจอ คือ ปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหาร จากพื้นที่ทำเกษตรในเมืองที่ลดน้อยลง ทำให้แหล่งผลิตอาหารอยู่ไกลออกไปจากเมือง และราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นที่มาของแนวทางการออกแบบ “แฟลตเกษตรยั่งยืน” อาคารชุดที่พักอาศัยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อยุติความหิวโหย และยกระดับโภชนาการของผู้มีรายได้น้อย ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ด้านอาหารขององค์การสหประชาชาติ อีกทั้งยังส่งเสริมการเกษตรกรรมที่ยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ มีการพัฒนาด้านอาหารและการเกษตรอย่างยั่งยืน จากการศึกษาเรื่อง แนวทางการออกแบบโครงการอาคารชุดพักอาศัยเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารสำหรับคนเมือง รวมถึงผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงผู้มีรายได้น้อย พบว่า การออกแบบห้องชุดพักอาศัยควรประกอบไปด้วยฟังก์ชัน 4 ข้อ เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนทางอาหาร ได้แก่

1. เพิ่มพื้นที่ผลิตอาหารด้วยการใช้ดิน โดยใช้พื้นที่แนวราบบริเวณชั้นล่างรอบอาคารที่พักอาศัย หรือการใช้พื้นที่ว่างโดยรอบอาคารที่มีขนาดไม่เพียงพอต่อการประกอบกิจกรรมอื่น นำมาใช้ในการเพาะปลูกพืชโดยใช้ดินเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการผลิตอาหาร

2. เพิ่มพื้นที่ผลิตอาหารบนส่วนหลังคาอาคารที่พักอาศัย เนื่องจากส่วนหลังคา หรือชั้นดาดฟ้านั้นมักถูกปล่อยเป็นพื้นที่ว่าง จึงสามารถนำมาใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกเพื่อเพิ่มการผลิตอาหารได้ นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่ที่ได้รับแสงแดด และมีอากาศถ่ายเทเหมาะแก่การเพาะปลูกอีกด้วย

3. เพิ่มพื้นที่ผลิตอาหาร ด้วยการใช้ดินบริเวณระเบียงของที่พักอาศัย โดยมากแล้ว ทุกยูนิตในอาคารชุดที่พักอาศัยล้วนมีระเบียงประจำห้องทั้งสิ้น หากนำพื้นที่ระเบียงของทุกยูนิตมาพัฒนาให้เป็นพื้นที่เพาะปลูก จะก่อให้เกิดพื้นที่ในการผลิตอาหารจำนวนมาก

4. เพิ่มพื้นที่ผลิตอาหารแนวตั้งเพื่อการปลูกพืชควบคู่กับการเลี้ยงปลา (Aquaponics) ที่ติดตั้งกับผนังของส่วนที่พักอาศัย นอกจากการปลูกพืชแล้วนั้น การเลี้ยงปลายังคงเป็นแนวทางการผลิตอาหารที่เหมาะสมต่อฟที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่จำกัด เนื่องจากใช้พื้นที่ไม่มาก และเป็นการเพิ่มคุณค่าให้แก่พื้นที่ผนังแทนการปล่อยว่าง

ด้าน รศ.เฉลิมวัฒน์ ตันตสวัสดิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มธ. กล่าวว่า การออกแบบที่พักอาศัยในปัจจุบัน นอกจากนักออกแบบจะต้องพิจารณาความสวยงาม ฟังก์ชันในการตอบสนองความต้องการด้านความสะดวกสบายแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่นักออกแบบต้องพิจารณา คือ “ความเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจ” เช่น การขยายตัวของครอบครัวในเขตเมือง การสร้างสมดุลของความเป็นเมืองกับความต้องการทางอาหาร ดังนั้น นักออกแบบต้องออกแบบที่พักอาศัยให้ส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกด้าน และสอดคล้องต่อวิถีชีวิตในแต่ละบริบทของชุมชน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มธ. ได้จัดงานประชุมวิชาการด้านสภาพแวดล้อมสรรค์สร้าง (Built Environment Research Associates Conference : BERAC) เพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและองค์ความรู้ ผ่านการนำเสนองานวิจัยและการเสวนา อันครอบคลุมหลากหลายสาขาวิชาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมสรรค์สร้าง เช่น สถาปัตยกรรม การผังเมือง นวัตกรรมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการออกแบบชุมชนเมืองจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นการส่งเสริมองค์ความรู้ในการต่อยอดทั้งในด้านวิชาการ และวิชาชีพในระดับปัจเจกบุคคล และประเทศชาติ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมืองมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โทรศัพท์ 0-2986-9605 ถึง 6 ต่อ 3015, 3034 หรือเว็บไซต์ www.tds.tu.ac.th


กำลังโหลดความคิดเห็น