ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบันกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีความแออัดเป็นอย่างมาก จากจำนวนประชากรที่มีตัวเลขสูงราว 5.7 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่พื้นที่มีจำกัดเพียง 1,569 ตร.กม. ส่งผลให้มีอัตราความหนาแน่นของประชากรสูง 3,700 คนต่อ ตร.กม. โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ประสบปัญหาเชิงพื้นที่จากลักษณะที่พักอาศัยแนวตั้ง เช่น อาคารชุด แฟลต คือราว 33 ตร.ม.ต่อห้อง และไม่สามารถต่อเติมได้ ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบครอบครัวขยายของชาวไทย
“แฟลตต่อเติมได้” ต่อเติมเพิ่มพื้นที่ รองรับวิถีชีวิตชาวไทย
นายภูเมศวร์ มะลิทองพงษ์กุล นักศึกษาระดับปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า จากปัญหาความแออัดในที่พักอาศัยของผู้มีรายได้น้อย จึงเป็นที่มาของการร่วมมือกับสมาชิกในกลุ่มอีก 2 คน นำข้อมูลจากงานวิจัยของอาจารย์ที่ปรึกษาและการศึกษาในชั้นเรียน มาออกแบบ “แฟลตต่อเติมได้” ที่พักอาศัยผู้มีรายได้น้อยแบบปรับเปลี่ยนต่อเดิมได้ (Transformable Social Housing) งานออกแบบเคหะชุมชน (Social Housing) ที่มีความสามารถในการต่อเติมได้ เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนสมาชิกในครอบครัวในอนาคต โดยมีลักษณะเด่น 3 ส่วน ได้แก่
1) แกนบ้าน (Core House) เพื่อความสามารถในการต่อเติมตัวบ้านได้ทุกทิศโดยรอบ ทั้งด้านข้าง ด้านบนและด้านล่าง แต่ยังคงมีช่องแสงสำหรับรับแสงธรรมชาติและช่องว่างเพื่อการถ่ายเทอากาศ โดยส่วนที่ต่อเติมนั้นจะเป็นการนำโครงสร้างรูปแบบลูกบาศก์สำเร็จรูป นำมาต่อเติมจากแกนบ้านได้ทันที คล้ายกับตัวต่อเลโก้ (Lego) ซึ่งสามารถต่อเติมได้จำนวนมากน้อยตามความเหมาะสมของจำนวนผู้อยู่อาศัย
2) ชานบ้าน ลักษณะคล้ายคลึงกับเรือนไทย เพื่อใช้เป็นทางเชื่อมส่วนต่างๆ ของบ้าน อาทิ ห้องนอน ห้องครัวและสวน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับกิจกรรมเอนกประสงค์ของสมาชิกในครอบครัว
3) วัสดุที่ใช้ก่อสร้างจะมีคุณสมบัติน้ำหนักเบา ง่ายต่อการต่อเติม มีความแข็งแรงคงทน และยังคงมีราคาที่ไม่สูงนัก อาทิ การนำเหล็กขึ้นรูปลอน มาใช้เป็นวัสดุทำหลังคา พื้น และผนัง
นายภูเมศวร์ กล่าวว่า ต้นแบบการออกแบบโครงสร้างอาคารชิ้นนี้มีความตั้งใจให้องค์กรจากภาครัฐที่มีหน้าที่ดูแลและพัฒนาที่อยู่อาศัยของประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย อาทิ การเคหะแห่งชาติและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) รวมทั้งบริษัทอสังหาริมทรัพย์จากภาคเอกชน ได้นำแนวคิดดังกล่าวไปใช้พัฒนาที่พักอาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในอนาคต เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านที่พักอาศัยของผู้มีรายได้น้อย และมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวไทย อีกทั้งเพื่อเป็นการสร้างสังคมและสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัยอีกด้วย
“แฟลตเกษตรยั่งยืน” ตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงชีพยั่งยืน
นายกานต์ภูชิต วิศิษฎ์วงศ์ นักศึกษาระดับปริญญาโท คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มธ. กล่าวว่า อีกหนึ่งปัญหาในเขตเมืองมักพบเจอคือ ปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหาร จากพื้นที่ทำเกษตรในเมืองที่ลดน้อยลง ทำให้แหล่งผลิตอาหารอยู่ไกลออกไปจากเมือง และราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นที่มาของแนวทางการออกแบบ “แฟลตเกษตรยั่งยืน” อาคารชุดที่พักอาศัยที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อยุติความหิวโหยและยกระดับโภชนาการของผู้มีรายได้น้อย ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ด้านอาหารขององค์การสหประชาชาติ อีกทั้งยังส่งเสริมการเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือมีการพัฒนาด้านอาหารและการเกษตรอย่างยั่งยืน จากการศึกษาเรื่อง แนวทางการออกแบบโครงการอาคารชุดพักอาศัยเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารสำหรับคนเมือง รวมถึงผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงผู้มีรายได้น้อย พบว่าการออกแบบห้องชุดพักอาศัยควรประกอบไปด้วย ฟังก์ชั่น 4 ข้อ เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนทางอาหาร ได้แก่
1. เพิ่มพื้นที่ผลิตอาหารด้วยการใช้ดิน โดยใช้พื้นที่แนวราบบริเวณชั้นล่างรอบอาคารที่พักอาศัย หรือการใช้พื้นที่ว่างโดยรอบอาคารที่มีขนาดไม่เพียงพอต่อการประกอบกิจกรรมอื่น นำมาใช้ในการเพาะปลูกพืชโดยใช้ดิน เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการผลิตอาหาร
2. เพิ่มพื้นที่ผลิตอาหารบนส่วนหลังคาอาคารที่พักอาศัย เนื่องจากส่วนหลังคาหรือชั้นดาดฟ้านั้น มักถูกปล่อยเป็นพื้นที่ว่าง จึงสามารถนำมาใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูก เพื่อเพิ่มการผลิตอาหารได้ นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่ ที่ได้รับแสงแดดและมีอากาศถ่ายเทเหมาะแก่การเพาะปลูกอีกด้วย
3. เพิ่มพื้นที่ผลิตอาหารด้วยการใช้ดินบริเวณระเบียงของที่พักอาศัย โดยมากแล้วทุกยูนิตในอาคารชุดที่พักอาศัย ล้วนมีระเบียงประจำห้องทั้งสิ้น หากนำพื้นที่ระเบียงของทุกยูนิตมาพัฒนาให้เป็นพื้นที่เพาะปลูก จะก่อให้เกิดพื้นที่ในการผลิตอาหารจำนวนมาก
4. เพิ่มพื้นที่ผลิตอาหารแนวตั้งเพื่อการปลูกพืชควบคู่กับการเลี้ยงปลา (Aquaponics) ที่ติดตั้งกับผนังของส่วนที่พักอาศัย นอกจากการปลูกพืชแล้วนั้น การเลี้ยงปลายังคงเป็นแนวทางการผลิตอาหารที่เหมาะสมกับที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่จำกัด เนื่องจากใช้พื้นที่ไม่มาก และเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับพื้นที่ผนังแทนการปล่อยว่าง
ด้าน รศ.เฉลิมวัฒน์ ตันตสวัสดิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มธ. กล่าวว่า การออกแบบที่พักอาศัยในปัจจุบันนอกจากนักออกแบบจะต้องพิจารณาความสวยงาม ฟังก์ชั่นในการตอบสนองความต้องการด้านความสะดวกสบายแล้ว อีกปัจจัยนึงที่นักออกแบบต้องพิจารณา คือ “ความเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจ” อาทิ การขยายตัวของครอบครัวในเขตเมือง การสร้างสมดุลของความเป็นเมืองกับความต้องการทางอาหาร ฯลฯ ดังนั้น นักออกแบบต้องออกแบบที่พักอาศัยให้ส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกด้านและสอดคล้องกับวิถีชีวิตในแต่ละบริบทของชุมชน
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มธ. ได้จัดงานประชุมวิชาการด้านสภาพแวดล้อมสรรค์สร้าง (Built Environment Research Associates Conference : BERAC) เพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและองค์ความรู้ ผ่านการนำเสนองานวิจัยและการเสวนา อันครอบคลุมหลากหลายสาขาวิชาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมสรรค์สร้าง อาทิ สถาปัตยกรรม การผังเมือง นวัตกรรมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการออกแบบชุมชนเมือง จากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นการส่งเสริมองค์ความรู้ในการต่อยอดทั้งในด้านวิชาการและวิชาชีพในระดับปัจเจกบุคคลและประเทศชาติ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โทรศัพท์ 02-986-9605 ถึง 6 ต่อ 3015, 3034 หรือเว็บไซต์ www.tds.tu.ac.th