ม.หอการค้าไทย เผยเอสเอ็มอีขอจดนิติบุคคลราว 7-8 แสนราย ส่งผลให้ผลประกอบการปรับตัวดีขึ้นชัดเจน ยอดขายเพิ่ม 40% กำไรเพิ่มอีก 32.7% ขณะสภาพคล่องปรับตัวดีขึ้น 27.4% ส่วนอีก 70% หรือ 1.75 ล้านราย ไม่ยอมยื่นขอจดทะเบียน ถือเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงเหตุไม่รับความช่วยเหลือจากมาตรการต่างๆ จากรัฐยามวิกฤต
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจความคุ้มค่าของการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอิงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่ามีสถานประกอบการที่ยื่นจดทะเบียนนิติบุคคล 700,000-800,000 ราย ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 2.5 ล้านราย โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 1.75 ล้านราย หรือคิดเป็น 70% ยังไม่ยอมจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งเห็นว่าเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากความช่วยเหลือจากภาครัฐผ่านมาตรการต่างๆ นั้น จะไม่สามารถไปถึงผู้ประกอบการเหล่านี้ได้
ทั้งนี้ จากการสำรวจเอสเอ็มอีทั่วประเทศ 1,250 ตัวอย่าง ต่อสถานการณ์ปัจจุบันของธุรกิจ เทียบกับปีที่ผ่านมา ระหว่างเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนกับเอสเอ็มอีไม่จดทะเบียน จะเห็นว่าเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะยอดขายปรับตัวเพิ่มขึ้น 40.7% กำไรดีขึ้น 32.7% ราคาสินค้าปรับตัวดีขึ้น 24.2% และสภาพคล่องของธุรกิจปรับตัวดีขึ้น 27.4% ขณะที่เอสเอ็มอีที่ไม่จดทะเบียนนิติบุคคล มีการปรับตัวดีขึ้น หรือเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ต่ำกว่า ด้านความต้องการสินเชื่อเอสเอ็มอีนั้น โดยส่วนใหญ่ราว 29.92% ระบุว่า ปัจจุบันต้องการสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ 32.56% ลงทุนเพิ่ม 9.52% ขณะที่เพื่อใช้จ่ายทั่วไป 6.48% รวมถึงชำระหนี้เก่า 5.36% และอื่นๆ อีก 0.48%
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจยังพบว่า 5 ปัจจัยแรกที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่ยอมจดทะเบียนนิติบุคคลมาจากกลัวการถูกเก็บภาษีถึง 43% ระยะเวลาจดทะเบียน หรือไม่มีเวลาไปจดทะเบียน 40.5% ได้รับการบอกเล่าที่ไม่ดีจากการจดทะเบียน 40.2% การจดทะเบียนนิติบุคคลทำได้ยากและต้องใช้เอกสารจำนวนมากถึง 38.4% และการเป็นนิติบุคคลจะถูกกรมสรรพากรตรวจสอบอย่างละเอียดละเอียด 38.2%
ส่วนข้อเสนอต่อรัฐบาลที่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนิติบุคคล ได้แก่ ไม่ตรวจสอบบัญชีย้อนหลัง ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียน เมื่อเกิดวิกฤตธุรกิจต้องได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ให้ความรู้ด้านบัญชี และการจดทะเบียน ทำให้เกิดความมั่นใจและความคุ้มค่ากับเจ้าของกิจการหากจดทะเบียน รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการจดทะเบียนให้เพิ่มมากขึ้น ลดความยุ่งยากของขั้นตอนการจดทะเบียน และขยายเวลาเก็บเอกสาร ลดหย่อนภาษี และอัตราดอกเบี้ย และอำนวยความสะดวกในการติดต่อประสานงานต่างๆ