xs
xsm
sm
md
lg

บล. เออีซี มองกรอบหุ้นไทย 1,645-1,710 จุด ชี้กลุ่มแบงก์ หนุนแรงซื้อดัชนีฯ ฟื้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บล.เออีซี (AECS) มองหุ้นไทยมีโอกาสฟื้นตัวต่อ หลังกลุ่มแบงก์ ประกาศงบไตรมาส 2/2561 ดีเกินคาด แต่ยังคงจับตาปัจจัยต่างประเทศ อาทิ สงครามการค้า ค่าเงิน และการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดต่อเนื่อง ให้กรอบดัชนี 1,645-1,710 จุด แนะลงทุนหุ้นผลการดำเนินงานไตรมาส 2/61 เด่น

บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AECS เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงสัปดาห์นี้ (24-26 ก.ค.) คาดมีโอกาสปรับขึ้นต่อได้หลังได้รับ Sentiment เชิงบวกจากผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่ออกมาดีเกินคาด อีกทั้งราคาน้ำมันดิบยังมีแนวโน้มปรับขึ้นหลังซาอุฯ จะปรับลดการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. แต่อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นแรงของดัชนียังมีความเป็นไปได้น้อย หลังนักลงทุนยังจับตาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังล่าสุด ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขู่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนวงเงินสูงถึง 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่วนปัจจัยกดดันต่างประเทศให้ตลาดมีความผันผวนได้ แม้จะมีแรงหนุนจากผลประกอบการของ บมจ. สหรัฐฯ ช่วงไตรมาส 2/2561 ที่ออกมาแข็งแกร่ง แต่คาดจะถูกกดดันด้วยแนวโน้มสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-คู่ค้าหลักที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้

รวมทั้งความไม่แน่นอนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ได้รับผลจากการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาวิจารณ์การทำงานของเฟด และมองว่าแผนขึ้นดอกเบี้ยของเฟดนั้นเร่งรีบเกินไป ซึ่งจะกระทบต่อการเติบโตของสหรัฐฯ อีกทั้งยังกล่าวโจมตีจีน EU และประเทศคู่ค้าอื่นๆ ว่า จงใจกดอัตราดอกเบี้ยไว้ต่ำ เพื่อสร้างความได้เปรียบด้านการค้ากับสหรัฐฯ ทำให้ Dollar Index กลับมาอ่อนค่าลงในช่วงปลายสัปดาห์

ขณะที่ในช่วงสั้นแนะนำให้นักลงทุนติดตามการพูดคุยระหว่างประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (Europe Commission) และนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันที่ 25 ก.ค. นี้ ซึ่งคาดจะมีการพูดคุยหลักถึงมาตรการ Safe Guard ยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ของสหรัฐฯ โดยแม้ล่าสุด ประเด็นดังกล่าวจะผ่อนคลายลงหลังนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และสมาคมยืนยันที่จะยอมลดภาษีรถยนต์นำเข้าจากสหรัฐฯ ลงเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามการค้ากับสหรัฐฯ แต่หากการพูดคุยดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน หรือมีบรรยากาศที่แย่ลง คาดตลาดจะกลับมากังวลต่อประเด็นดังกล่าวอีกครั้ง เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งจากรายงานของ EU ประเมินผลกระทบดังกล่าวอาจนำมาซึ่งการจัดเก็บภาษีในสินค้ามูลค่ากว่า 2.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และกระทบต่อภาค Real Sector ทั้งในสหรัฐฯ และ EU

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ลงทุนแนะนำเลือกหุ้นรายตัวในกลุ่ม Domestic ที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง เช่น หุ้นธนาคารพาณิชย์ที่คาดกำไรโต หรือราคาหุ้นยังราคาไม่กลับขึ้นมา โดยมี PBV ต่ำ เช่น KBANK, BBL, SCB 2. หุ้นกลุ่มบริการ ค้าปลีก, รพ., ท่องเที่ยว ที่คาดกำไรยังโตสดใสในช่วง 2Q/61 เช่น BJC, HMPRO, MC, BDMS, BCH, RJH, AOT, MINT, SPA และ 3. หุ้นที่จ่าย Div. Yield สูงเกินปีละ 5% เช่น KKP, TTW, MC, SMPC

ส่วนในทางเทคนิคแนะนำ นักเก็งกำไร กรณีมีหุ้นถือต่อ หรือกรณีไม่มีหุ้นให้ซื้อเมื่อดัชนีอ่อนตัวบริเวณแนวรับ 1,645 จุด และแบ่งขายทำกำไรบริเวณแนวต้าน 1,680/1,695 จุด ทั้งนี้ ตั้งจุดตัดขาดทุนเมื่อดัชนีวกกลับปิดต่ำกว่าแนวรับ สำหรับนักลงทุนระยะกลาง ซื้อเพื่อเล่นรอบ โดยทยอยเมื่อดัชนีอ่อนตัว มองกรอบแนวรับ 1,640-1,650 จุด เพื่อคาดหวังแนวต้าน 1,695-1,710 จุด
 
ทั้งนี้ หากตั้งจุดตัดขาดทุน (Stop Loss) หากหลุด 1,630 จุด กลุ่มที่คาด Outperform สัปดาห์นี้ เลือกกลุ่ม ธนาคาร (BANK) โดยมี Top Pick ได้แก่ BBL คาดหวังรีบาวนด์แนวต้าน 203 บาท แนวรับ 196 บาท, KBANK คาดหวังรีบาวนด์แนวต้าน 220 บาท แนวรับ 205 บาท


กำลังโหลดความคิดเห็น