เดลต้า จับมือกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผลักดัน “กองทุนนางฟ้า” ปีที่ 3 ชี้ผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมมากกว่า 100 ทีม เตรียมประกาศผลเดือนสิงหาคม สนับสนุนเงินทุนให้เปล่ารวม 4 ล้านบาท เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ และกลุ่มสตาร์ทอัป ผลักดันเศรษฐกิจไทยให้สอดรับนโยบายของภาครัฐ
นายยงยุทธ ภักตร์ดวงจันทร์ ผู้อำนวยการแผนกบริหารและทรัพยากรบุคคล บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA เปิดเผยว่า บริษัทฯ ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อสานต่อโครงการ “กองทุนนางฟ้า” หรือ “Angel Fund for Startup” ซึ่งถือเป็นกองทุนแรกของภาคเอกชนที่ร่วมมือกับ กสอ. เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ และสตาร์ทอัป (StartUp) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยเป็นการสนับสนุนเงินลงทุนในลักษณะให้เปล่า จำนวน 4 ล้านบาท ภายใต้ 2 แนวคิด คือ
1. Green Solution for Thailand 4.0 การออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management) นวัตกรรมด้านการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้านการบริหารจัดการของเสีย (Waste management) หรือ ด้านอุตสาหกรรมสีเขียว (Green industry)
แนวคิดที่ 2. Advancing Thailand’s Industry with AI Solution การนำนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เข้ามาใช้ในธุรกิจและสามารถนำมาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดรูปแบบทางธุรกิจใหม่ๆ ในอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมด้านการดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ชีวิตของคน และเทคโนโลยีที่มาคู่กับ AI
“เดลต้าฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสตาร์ทอัปที่มีการวางแผนทางธุรกิจที่ดี แต่ยังขาดเงินทุนสนับสนุนในการจัดตั้งธุรกิจให้เกิดขึ้น เราจึงร่วมมือกับ กสอ. จัดโครงการ “กองทุนนางฟ้า” ขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่นำเสนอแผนธุรกิจชิงเงินทุนรวมกว่า 4 ล้านบาท พร้อมทั้งองค์ความรู้ด้านการประกอบธุรกิจให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีทั้งความฝัน และความตั้งใจที่จะดำเนินธุรกิจ และต่อยอดให้เกิดขึ้นจริง เราต้องการให้กลุ่มสตาร์ทอัปสามารถแจ้งเกิดและเติบโตได้อย่างมีศักยภาพระหว่างการแข่งขัน รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ และเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว ตามนโยบายของภาครัฐ” นายยงยุทธ กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากการเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการผ่านช่องทางออนไลน์ http://angelfund.dip.go.th ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 ปรากฏว่า ได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการเป็นอย่างดี โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมสมัครมากกว่า 100 ทีม ซึ่งทางเดลต้า และ กสอ. ได้ทำการคัดผู้ผ่านการคัดเลือกในรอบแรก เหลือจำนวนทั้งสิ้น 55 ทีม ซึ่งแบ่งเป็นแนวคิด Green Solution For Thailand 4.0 จำนวน 29 ทีม และแนวคิด Advancing Thailand’s Industry with AI Solution จำนวน 26 ทีม จากนั้นเดลต้า และ กสอ. ได้จัดฝึกอบรมให้กับผู้ที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก ในการทบทวนกระบวนการคิดเชิงธุรกิจ และการเขียนแผนธุรกิจเป็นระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ เพื่อให้แผนธุรกิจของผู้ประกอบการมีความชัดเจน ตรงประเด็น และจับต้องได้มากยิ่งขึ้น หลังจากนั้น จึงเสนอให้กับคณะกรรมการจากทางเดลต้า ผู้ทรงคุณวุฒิจาก กสอ. และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาตัดสินทีมที่เหมาะสมสำหรับการแข่งขันครั้งนี้โดยเตรียมประกาศผลทีมผู้ชนะในช่วงเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ณ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ เกณฑ์การตัดสินประกอบด้วยกันทั้งหมด 5 ด้าน คือ 1. ผลิตภัณฑ์และบริการมีนวัตกรรมความแปลกใหม่ 2. การตอบความต้องการของลูกค้าเป้าหมายได้ 3. ความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ 4. ขนาดของธุรกิจน่าสนใจ (Market Size) และ 5. ภาพรวมในการนำเสนอ
“แผนธุรกิจของผู้สมัครในปีนี้ ถือว่ามีความน่าสนใจกว่า 2 ปีที่ผ่านมาอย่างมาก เนื่องจากแผนธุรกิจที่ผู้สมัครนำมาเสนอมีความกระชับ ตรงประเด็น และมีความเป็นไปได้ในทางธุรกิจมากกว่าปีก่อน รวมทั้งมีความใกล้เคียงกับธุรกิจของเดลต้า ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เราสนใจ เพราะนอกเหนือจากการให้ทุนสนับสนุนแล้ว เดลต้าสามารถเข้าไปเป็นพี่เลี้ยง และช่วยสนับสนุนในด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่แต่เพียงตัวเงินให้ตรงจุดมากขึ้น อาทิ การจัดหาคู่ค้า การผลักดันเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่า (Supply Chain) ของเดลต้า และพันธมิตรทางธุรกิจ หรือเข้าไปช่วยพยุงให้ธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่สามารถเดินหน้า และเติบโตต่อไปได้ในอนาคต อีกทั้งสอดรับกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง Big Brother อีกด้วย” นายยงยุทธ กล่าวเพิ่มเติม
ด้านนายวิจักขณ์ รัตนสุวรรณ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรรม กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นความร่วมมือระหว่างเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ กับ กสอ. ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยสิ่งที่ทาง กสอ. มุ่งเน้นไม่ใช่เป็นเพียงการประกวดเพื่อมอบรางวัลให้กับไอเดียหรือแผนธุรกิจที่ดูดี แต่ดูว่าแผนธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนเรื่องเงินทุน และองค์ความรู้ต่างๆ จะต้องนำไปใช้ได้จริง และอยู่รอดได้ ซึ่งหลังจากผ่านไป 3 เดือน 5 เดือน หรือ 1 ปี ธุรกิจดังกล่าวต้องสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แม้ว่าทาง กสอ. จะเสร็จสิ้นภารกิจในฐานะคณะกรรมการตัดสินเพียงเท่านี้ แต่ กสอ. พร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงเพื่อดึงเหล่าผู้ประกอบการใหม่ และสตาร์ทอัป ที่ผ่านการคัดเลือกในโครงการนี้ สำหรับจัดเก็บในฐานข้อมูลของ กสอ. สามารถนำไปผลักดัน และพัฒนาต่อยอดในอนาคตได้ โดยเชื่อมโยงกับสถาบันการเงิน และแหล่งเงินทุนที่เป็นพันธมิตรกับ กสอ. อีกทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมมีมาตรการด้านการเงินที่สนับสนุนผู้ประกอบการใหม่ที่มีนวัตกรรมที่น่าสนใจ ผ่านสินเชื่อ Micro SMEs วงเงิน 8,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1% วงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท ตลอดจนมีศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) อยู่เกือบ 23 แห่งทั่วประเทศ ที่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ยืนได้ด้วยตนเอง และประสบความสำเร็จต่อไปได้