xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลมีรายได้สุทธิ 9 เดือน เกินเป้า 6.2 หมื่น ล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คลังเผย 9 เดือนแรกของปีงบฯ 61 รัฐบาลมีรายได้สุทธิรวมกว่า 1.8 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6.2 หมื่นล้านบาท ขณะกรมสรรพากรมีรายได้รวม 1.35 ล้านล้านบาทหรือลดลง 0.8% จากการจัดเก็บภาษี VAT ได้ต่ำเป้า 2 หมื่นล้านบาท สามารถจัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตเลียมสูงกว่าประมาณการ 1 หมื่นล้านบาท

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560-มิถุนายน 2561) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 1,832,121 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 62,408 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.5%

ส่วนรายละเอียดของผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บนั้น โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรมสรรพากร สามารถจัดเก็บรายได้รวม 1,356,210 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 11,503 ล้านบาท หรือลดลงราว 0.8% ทั้งนี้ เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 20,225 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.3% อย่างไรก็ตาม ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมนั้นสามารถจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 10,816 ล้านบาท หรือราว 26.6% เนื่องจากมีการชำระภาษีเงินได้ฯ ย้อนหลังของบริษัทขุดเจาะน้ำมันหลังผลประกอบการปรับตัวดีขึ้น

ด้านผลการจัดเก็บรายได้ 9 เดือนของกรมสรรพสามิตนั้น จะมีทั้งสิ้น 419,258 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,298 ล้านบาท หรือราว 1.9% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ ได้แก่ ภาษีเบียร์จัดเก็บได้ 10,672 ล้านบาท หรือคิดเป็น 16.7% ภาษีน้ำมัน 7,896 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.8% และภาษีสุรา 4,144 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.7 % เนื่องจากปริมาณเบียร์ น้ำมัน และสุรา ที่ชำระภาษีต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ขณะที่ภาษีรถยนต์ และภาษียาสูบนั้น จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 6,635 ล้านบาท และ 4,571 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 8.2% และ 9.6% ตามลำดับ

นางสาวกุลยา ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงกรมศุลกากร ซึ่งจัดเก็บรายได้รวม 81,559 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,041 ล้านบาท หรือราว 2.4% โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าประมาณการ จำนวน 2,209 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 2.7% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำเข้าสินค้าที่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษีมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้การจัดเก็บอากรขาเข้าไม่ขยายตัวตามที่ประมาณการไว้ ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และในรูปเงินบาทช่วง 8 เดือนแรกของปีงบฯ 61 ขยายตัว 15.3% และ 5.8% ตามลำดับ ด้านสินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าในช่วง 8 เดือนแรก ได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานบกและส่วนประกอบ, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์, เครื่องจักรและเครื่องใช้กล, ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม, และพลาสติกและสินค้าจากพลาสติก

สำหรับผลการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบฯ 61 จะมีรวม 130,604 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 25,171 ล้านบาท หรือราว 23.9%) ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 5 อันดับแรก ได้แก่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, บมจ. ปตท., ธนาคารออมสิน, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, และ บมจ. ท่าอากาศยานไทย เนื่องจากผลประกอบการขยายตัวดี ส่วนกรมธนารักษ์ จัดเก็บรายได้รวม 6,781 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 695 ล้านบาท หรือราว 11.4% โดยมีรายได้ด้านเหรียญกษาปณ์ที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ ขณะที่หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 147,944 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 27,522 ล้านบาท หรือประมาณ 22.9% เนื่องจากการรับรู้ส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตร (Premium) เป็นรายได้แผ่นดิน การนำส่งรายได้ของสำนักงาน กสทช. และการส่งคืนเงินกันชดเชยให้แก่ผู้ส่งออกเป็นรายได้แผ่นดินสูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ โฆษกกทรวงการคลัง ยังได้รายงานผลการจัดเก็บรายได้สุทธิในเดือน มิ.ย. 61 ของรัฐบาลมีทั้งสิ้น 255,599 ล้านบาท แต่ยังต่ำกว่าเป้า 2,335 ล้านบาท หรือลดลง 0.9% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษี VAT ซึ่งจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 2,960 ล้านบาท หรือราว 4.1% แม้การจัดเก็บภาษี VAT จะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการ แต่ก็ยังสูงกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเกียวกันของปีก่อน 9% ส่วนภาษีเบียร์จัดเก็บได้ 2,822 ล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้า 34.8% และภาษีสุราจัดเก็บได้ 1,525 ล้านบาท หรือต่ำเป้า 27.4% ตามลำดับ


กำลังโหลดความคิดเห็น