เอแอลที เทเลคอม เผยความคืบหน้าโครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) พื้นที่เมืองพัทยา ในนามกลุ่มกิจการค้าร่วม A.I. ประกอบด้วย ALT และ ITRON สหรัฐอเมริกา เดินหน้าดำเนินงานขั้นตอนแรกแล้ว ผู้บริหารปลื้มได้พันธมิตรที่แข็งแกร่งมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มั่นใจสร้างเสร็จปี 2563 ตามแผน
นางปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) (ALT) ผู้ประกอบธุรกิจโทรคมนาคมแบบครบวงจร เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ในพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ในส่วนงานกลุ่มที่ 1 ระบบ AMI, MWM และ IT Integration มูลค่าประมาณ 700 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี ร่วมด้วย บริษัท ITRON ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจด้านเทคโนโลยีสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้าระดับโลก เข้าร่วมรับงานในนาม กลุ่มกิจการค้าร่วม A.I.
โดยปัจจุบันได้เริ่มเข้ามาวางระบบ Head-End ระบบบริหารจัดการข้อมูลการอ่านมิเตอร์ (Meter Data Management System: MDMS) และติดตั้งระบบแก้ไขปัญหาไฟฟ้าขัดข้องอัจฉริยะแบบเคลื่อนที่ (Mobile Workforce Management System : MWMS) จะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 8 เดือน และหลังจากนั้น จะเข้าดำเนินการรื้อถอนมิเตอร์เดิม และคาดว่าจะลงติดตั้ง Smart Meter ให้ครบทุกพื้นที่ทั่วเมืองพัทยา จากเดิม 116,308 ตัว เป็นประมาณ 150,000 ตัว ตามข้อมูลผู้ใช้ไฟในปัจจุบันที่มีอยู่ และส่งมอบอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่รับผิดชอบต่อไป
“ITRON เป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและการให้บริการด้านนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้าที่ชาญฉลาด ซึ่งจะเข้ามาช่วยบริหารจัดการทรัพยากรของเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุด มุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart city ตามนโยบายภาครัฐ เพราะฉะนั้น การร่วมมือกันในครั้งนี้ ทำให้เชื่อมั่นว่าจะสามารถตอบโจทย์การทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องด้วย ITRON มีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และเรามีกำลังพลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง พร้อมสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อให้งานประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์” นางปรีญาภรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) เป็นระบบส่งจ่ายกำลังไฟฟ้าอัจฉริยะ เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะมาเปลี่ยนรูปแบบการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้า ให้มีความทันสมัย และเข้ามาช่วยปรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของคนในพื้นที่ด้วยระบบระบบมิเตอร์อัตโนมัติ ซึ่งจะมีการประมวลและวิเคราะห์ผลออกมาตามการใช้งานจริง ทำให้ผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการไฟฟ้า ได้มีการบริหารจัดการเกี่ยวกับภาระกำลังไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพร่วมกัน