ปลัดกระทรวงการคลัง ยอมรับมาตรการภาษีป้องกันนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่เพียงพอ ต้องใช้หลายมาตรการช่วยควบคุมดูแล แนะทุกฝ่ายแยกขยะ ร่วมบริหารจัดการ นำรีไซเคิลช่วยลดผลกระทบระยะยาว
นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัญหาการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ เศษพลาสติก เศษโลหะ ยอมรับว่า ระบบเอ็กซเรย์มีปัญหาในการตรวจสอบว่าเป็นสินค้าเก่า หรือสินค้าใหม่ เพราะเอ็กซเรย์เห็นเพียงรูปร่างสินค้า ช่วงที่ผ่านมา จึงมีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก และหากจะเปิดทุกตู้คอนเทนเนอร์คงเป็นไปไม่ได้ เพราะจะทำให้เสียเวลาให้บริการนำเข้าส่งออกสินค้าของศุลกากร และท่าเรือ การป้องกันปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ทะลักเข้าประเทศ จึงต้องใช้หลายมาตรการร่วมกัน จึงจะเกิดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่กระทรวงการคลังยังเดินหน้าศึกษาจัดเก็บภาษีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แม้จะเพิ่มภาษีสูงขนาดไหน แต่หากมีการลักลอบสำแดงเท็จแล้วปล่อยทิ้งยังจะมีปัญหาเรื่องจัดการของกลาง รวมไปถึงการศึกษาแนวทางเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จะให้เคลมกลับคืนกับผู้นำเข้าหรือผู้ใช้เมื่อมีการทำลาย หรือบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่สำคัญ ขอความร่วมมือกับทุกฝ่ายแยกขยะเปียก, แห้ง, ถุงพลาสติก, ขยะเศษโลหะ, รีไซเคิล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เช่น สวีเดน ยังรับซื้อขยะจากหลายประเทศ เพื่อนำไปเผาไฟผลิตกระแสไฟฟ้า เพราะขยะในประเทศเมื่อแยกแล้วยังไม่เพียงพอผลิตกระแสไฟฟ้า
ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบห้ามโรงงานใช้เศษพลาสติกที่มาจากการนำเข้ามาใช้ในการผลิต โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 32 (2) กำหนดชนิด คุณภาพ อัตราส่วน ของวัตถุดิบแหล่งกำเนิดของวัตถุดิบ และปัจจัย หรือชนิดของพลังงานที่จะนำมาใช้หรือผลิตในโรงงาน โดยคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ในเร็วๆ นี้