xs
xsm
sm
md
lg

วิสัยทัศน์ “เจ้าสัวชาตรี” นำพา “แบงก์กรุงเทพ” รอดพ้นวิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


การจากไปของ “เจ้าสัว ชาตรี โสภณพนิช” นับเป็นการสูญเสียบุคคลที่สำคัญของประเทศ และเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะบุคคลในวงการธุรกิจธนาคารพาณิชย์ เป็นบุคคลที่มีคุณค่าควรแก่การยกย่องสำหรับ “เจ้าสัว ชาตรี โสภณพนิช” ด้วยหน้าที่การงานที่ทรงเกียรติ มีตำแหน่งหน้าที่ และบทบาทมากมายทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อีกทั้งยังทำหน้าที่สามี และคุณพ่อที่ดีของลูกๆ 4 คนอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง จึงไม่น่าแปลกใจที่ “เจ้าสัวชาตรี” จะเป็นที่ยกย่องของบุคคลหลายๆ วงการที่ล้วนกล่าวถึง ยกย่อง ไว้อาลัยกับการจากไปครั้งนี้ 

นายชาตรี โสภณพนิช เกิดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2476 ที่ประเทศไทย เป็นบุตรคนที่สองของ นายชิน โสภณพนิช ผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กับ นางชาง ไว เลาอิง สมรสกับคุณหญิงสุมณี โสภณพนิช มีบุตรและธิดารวม 4 คน คือ นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงเทพ, นางสาวิตรี รมยะรูป, นายชาลี โสภณพนิช และนางสุชาดา ลีสวัสดิ์ตระกูล

จากครอบครัวทำธุรกิจการเงินและธนาคาร นายชาตรี จึงเลือกศึกษาด้านบัญชีและการธนาคาร โดยสำเร็จการศึกษาระดับอาชีวศึกษาชั้นสูงสาขาบัญชี จากวิทยาลัย Kwang Tai High Accountancy College ประเทศ Hong Kong จากนั้นเดินทางไปศึกษาวิชาการธนาคารระดับอุดมศึกษาที่ London Regent Street Poly-Technic ประเทศอังกฤษ และได้รับประกาศนียบัตรวิชาการธนาคารจาก Institute of Bankers ประเทศอังกฤษ

เจ้าสัวชาตรี เริ่มชีวิตการทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการบัญชีที่ บริษัท เอเชียทรัสต์ จำกัด เมื่อปี 2501 ก่อนจะมาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบัญชี ของธนาคารกรุงเทพในเดือนตุลาคม 2502

“มีเรื่องเล่าถึงความตั้งใจ และความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานอย่างมาก หน้าที่ของฝ่ายบัญชีที่จะต้องดูแลบัญชีการเงินของธนาคารแล้ว เจ้าสัวยังได้รับมอบหมายให้เป็นบุคคลที่ต้องเก็บกุญแจเซฟ ซึ่งจะเก็บเงินสดของธนาคารส่วนใหญ่ ถือว่าเป็นภาระหน้าที่สำคัญมาก เจ้าสัวได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด และมีวินัย มาทำงานตั้งแต่เช้าก่อนพนักงานๆ คน เพื่อมาเปิดธนาคารและเปิดเซฟ เตรียมความพร้อมก่อนที่ธนาคารจะเปิดให้บริการลูกค้า เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเพื่อนพนักงานที่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่สูง”

เจ้าสัวชาตรี ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการในปี 2523 กลายเป็นผู้นำที่พาธนาคารกรุงเทพ เข้าสู่ยุคทอง โดยในข่วง 12 ปีที่เขาดำรงตำแหน่ง ผลประกอบการของธนาคารกรุงเทพ มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 12 เท่า และเป็นครั้งแรกที่ธนาคารพาณิชย์ไทย ทำกำไรสุทธิได้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ทำให้ ณ ขณะนั้น ธนาคารกรุงเทพ กลายเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็น 1 ใน 200 ธนาคารชั้นนำของโลก และก้าวขึ้นมาเป็นประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในปี 2535 จวบจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงที่บริหารธนาคารกรุงเทพ เป็นนายธนาคารที่มีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล แก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงทีก่อนที่จะเกิดวิกฤตลุกลาม การแก้ไขปัญหาข่าวลือจากธนาคารกรุงเทพ สาขาฮ่องกง มีผลประกอบการที่ลดลง เนื่องจากเกิดปัญหาทางการเมืองภายในประเทศจีน กับฮ่องกง ทำให้นักธุรกิจต่างเตรียมความพร้อมลดการลงทุน และการขยายธุรกิจ มีข่าวลือเข้ามาในประเทศไทย ทำให้ลูกค้าและนักธุรกิจเริ่มมีคำถามมากขึ้นถึงผลประกอบการธนาคาร และเริ่มทยอยเข้ามาถอนเงินฝากจากธนาคาร ประกอบกับมีใบปลิวออกมาแจกให้กับลูกค้าที่สาขาพาหุรัต และสาขาสะพานขาว ถึงฐานะของธนาคารเริ่มแย่ลงถึงขั้นจะล้มกิจการ เป็นข่าวที่เข้ามาซ้ำเติมอีกรอบหนึ่ง

ขณะนั้น คณะกรรมการและผู้บริหาร นำโดยนายอำนวย วีระวรรณ ประธานกรรมการบริหารและเจ้าสัวชาตรี โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้ทำหนังสือชี้แจงไปยังสาขาธนาคารทั่วประเทศ ยืนยันฐานะและการดำเนินธุรกิจ มีกำไรและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยให้ผู้จัดการสาขาแต่ละแห่งชี้แจงกับพนักงาน และลูกค้าให้ทราบถึงฐานะที่แท้จริง หากลูกค้าต้องการจะถอนเงินธนาคารก็ยินดี และมีเงินเพียงพอ โดยมีบางสาขาได้นำเงินสดมาตั้งโชว์ให้ลูกค้าเห็นว่ามีเงินเพียงพอต่อการเบิกถอนของลูกค้า และยืนยันว่าฐานะธนาคารยังแข็งแกร่ง

ขณะเดียวกัน นายอำนวย และเจ้าสัวชาตรี ได้เดินสายขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสมหมาย ฮุนตระกูล เพื่อขอชี้แจง และยืนยันฐานะของธนาคาร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะธนาคารกรุงเทพ นั่งแท่นธนาคารอันดับ 1 หากเกิดวิกฤตก็จะมีปัญหาลามมายังระบบเศรษฐกิจของประเทศแน่นอน

จากการเข้าพบและอธิบายดังกล่าว นายกรัฐมนตรีพอเอกเปรม และรัฐมนตรีคลัง ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับนักข่าว ถึงฐานะของธนาคารกรุงเทพว่าไม่มีปัญหาตามข่าวลือ สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและลูกค้า ธนาคารกรุงเทพ จึงผ่านวิกฤตไปได้ ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่สำคัญในการบริหารธุรกิจและการแก้ไขวิกฤตของเจ้าสัวชาตรี จึงเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติอย่างมากมาย

ในปี 2526 ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ นายชาตรี ได้รับปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก Pepperdine University ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้น ในเดือนมกราคม 2529 ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก De La Salle University ประเทศฟิลิปปินส์ และในวันที่ 6 มกราคม 2551 ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารธุรกิจ และได้รับรางวัลเกียรติยศ “Lifetime Achievement Award” จาก Asia Pacific Bankers Congress (APBC) ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์โดยอุทิศตน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงภาคธุรกิจการธนาคาร ทำให้ธนาคารกรุงเทพ เติบโตก้าวหน้าอย่างยั่งยืน และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในภูมิภาคเอเชีย

ด้วยความสามารถและความสำเร็จด้านการธนาคาร และการประกอบธุรกิจที่เป็นที่ประจักษ์ ทำให้นายชาตรี ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ประธานสมาคมธนาคารไทย 3 สมัย ประธานสภาธนาคารอาเซียน กรรมการกลางสภาที่ปรึกษาผู้นำทางธุรกิจระหว่างประเทศของผู้ว่าการนครเซี่ยงไฮ้ และเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นอกจากตำแหน่งทางด้านธุรกิจแล้ว นายชาตรี ยังเคยได้รับตำแหน่งทางการเมืองด้วย เช่น มิถุนายน 2531 เป็นสมาชิกวุฒิสภา, กรรมาธิการการคลังการธนาคารและสถาบันการเงิน-วุฒิสภา, กรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาปัญหาและแนวทางพัฒนาเด็กและเยาวชนไปสู่การเป็นพลเมืองดีมีคุณภาพของรัฐสภา, ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง ประจำรัฐสภา ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2531 ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ฝ่ายวิชาการและการประชาสัมพันธ์, ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในเดือนเมษายน 2539 ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการการเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ฯลฯ

ปัจจุบัน เจ้าสัวชาตรี ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธนาคารที่มีสินทรัพย์มากที่สุดในประเทศ มีสินทรัพย์ทั้งหมดประมาณ 3.06 ล้านล้านบาท และตำแหน่ง ประธานกรรมการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด ผู้ดำเนินกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 อ.ส.ม.ท. และยังเป็น ประธานกรรมการ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ กรรมการ และผู้ถือหุ้น ในองค์กรชั้นนำเกือบ 30 แห่ง ทำให้ได้รับการจัดอันดับเป็นมหาเศรษฐี อันดับที่ 26 ของไทยจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส ในปี 2561 มีสินทรัพย์ 45,570 ล้านบาท การถึงแก่กรรมของเจ้าสัวชาตรี ถือว่าเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญของประเทศ เศรษฐกิจ และวงการธุรกิจธนาคารของไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น