ธปท. เผยผู้ประกอบรายเล็กกว่าร้อยละ 69 ไม่ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เหตุเข้าใจผิดเรื่องเก็งกำไรค่าเงิน
นายณัฐพงศ์ รุจิรวนิช ผู้วิเคราะห์ ส่วนธุรกิจเงินตราต่างประเทศ สำนักธุรกิจตลาดการเงิน ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารเเห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยผลการวิจัย FX hedging ภูมิคุ้มกันสำหรับผู้ประกอบการไทยในยุคค่าเงินบาทผันผวนของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ว่าผู้ประกอบการรายเล็ก (จ้างแรงงานไม่เกิน 50 คน มีสินทรัพย์รวมไม่เกิน 50 ล้านบาท) กว่าร้อยละ 69 ไม่ทำประกันความเสี่ยงอัตราเเลกเปลี่ยน (เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ (7-12 เดือน ใน 1 ปี) โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่เป็นบริษัทข้ามชาติป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามนโยบายบริษัทแม่
ส่วนสาเหตุที่ผู้ประกอบการรายเล็กไม่ทำ FX hedging เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน และมีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อ ขณะเดียวกัน ต้นทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าธรรมเนียมเเพง เพราะผู้ประกอบการรายเล็กมีความเสี่ยงทางธุรกิจสูง ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการรายเล็กมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเก็งกำไรค่าเงิน เพราะคิดว่า หากมีการป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้าจะขาดทุนกำไร หากค่าเงินบาทอ่อนค่าเกินกว่าอัตราเเลกเปลี่ยนที่ซื้อความเสี่ยงไว้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ เพราะถือว่าเป็นการเพิ่มความเสี่ยงเป็น 2 เท่า เนื่องสินค้าประเภทนี้มีความผันผวนสูง
นายธีธัช เชื้อประไพศิลป์ วิเคราะห์อาวุโสส่วนวิเคราะก็ตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า ช่วงนี้เงินบาทอ่อนค่าจากปัญหาความกังวลเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ เเละจีน รวมทั้งเงินทุนไหลออกกลับไปลงทุน ในเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่า ซึ่งผู้ประกอบการไม่ควรชะล่าใจ โดยเเนะนำให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะรายเล็กอ่อนไหวต่อค่าเงินโดยเฉพาะในช่วงที่เงินบาทเเข็ง ก็จะตระหนกเเละเร่งซื้อการป้องกันความเสี่ยง เเต่เมื่อบาทอ่อนค่ากลับไม่ให้ความสนใจ
“อยากให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเหมือนกับการซื้อประกันภัยรถยนต์ คือ ต้องทำสม่ำเสมอ และควรสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเข้าถึงสินเชื่อเพื่อใช้ในการทำ FX hedging จะช่วยลดความเสี่ยงให้ผู้ประกอบการได้” นายธีธัช กล่าว