คลัง แจงคืบหน้าแก้หนี้นอกระบบ สิ้นเดือน พ.ค. ปล่อยกู้ใช้จ่ายฉุกเฉินกว่า 11,000 ล้านบาท นิติบุคคลยื่นขอตั้งพิโกไฟแนนซ์ 480 ราย
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยความคืบหน้าแก้หนี้นอกระบบว่า สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ที่กระทรวงการคลังเปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เป็นต้นมาจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2561 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตทั้งสิ้น 480 รายใน 66 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา 46 ราย กรุงเทพมหานคร 39 ราย และร้อยเอ็ด 30 ราย
ทั้งนี้ คืนคำขออนุญาตทั้งสิ้น 76 รายใน 39 จังหวัด จึงมีนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตสุทธิ 404 รายใน 64 จังหวัด และมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจแล้ว 357 รายใน 63 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้เปิดดำเนินการ 248 รายใน 59 จังหวัด และมีผู้ประกอบการที่ปล่อยสินเชื่อ 204 รายใน 56 จังหวัด โดยสิ้นเดือนเมษายน 2561 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสม 17,335 บัญชี รวมเป็นเงิน 463.62 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ย 26,744.70 บาทต่อบัญชี ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างรวมมีทั้งสิ้น 4,825 บัญชี คิดเป็นเงิน 148.15 ล้านบาท
ส่วนสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินของธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สิ้นเดือนพฤษภาคม 2561 มีการอนุมัติสินเชื่อรวม 251,531 ราย เป็นเงิน 11,227.93 ล้านบาท จำแนกเป็นสินเชื่อที่อนุมัติแก่ประชาชนทั่วไป 235,481 ราย เป็นเงิน 10,518.42 ล้านบาท และสินเชื่อที่อนุมัติแก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ที่มีหนี้นอกระบบ 16,050 ราย เป็นเงิน 709.51 ล้านบาท ขณะที่การดำเนินการกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2561 มีการจับกุมผู้กระทำผิดรวมทั้งสิ้น 2,633 คน