xs
xsm
sm
md
lg

“ณัฐภพ” เก็บหุ้น “เอ็นเอฟซี” เพิ่มอีก 4.86%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บิ๊กบอส “เอ็นเอฟซี” พร้อมยืนหยัดคู่กับบริษัทฯ ลุยเก็บหุ้นในกระดานเพิ่มอีก 4.86% ดันสัดส่วนเพิ่มเป็น 63.05% มั่นใจอนาคตไปได้ไกล หลังปรับโมเดลธุรกิจใหม่ มุ่งสู่ลอจิสติกส์ครบวงจรของไทย รองรับดีมานด์ลูกค้าในเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุด รับกระแส EEC

นายณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ NFC เปิดเผยว่า ได้เข้าซื้อหุ้น NFC ในกระดานเพิ่มอีก 52,885,332 หุ้น หรือคิดเป็น 4.86% ส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มเป็น 685,900,294 หุ้น หรือ 63.05% เนื่องจากมั่นใจในทิศทางธุรกิจของบริษัทฯ ในอนาคต หลังจากได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ จากธุรกิจการผลิตและจำหน่ายปุ๋ย มุ่งสู่การเป็นผู้จำหน่ายเคมีภัณฑ์ และผู้ให้บริการด้านลอจิสติกส์ครบวงจรของไทย สอดรับนโยบายของรัฐบาลที่มีการผลักดัน โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในเขตมาบตาพุด ที่คาดว่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญจากโครงการ EEC

“ผมเชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของ NFC ในอนาคต จึงตัดสินใจซื้อหุ้นในกระดานเพิ่ม เพราะการดำเนินธุรกิจในอนาคตได้มีการเตรียมแผนงานต่างๆ ไว้รองรับเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในเบื้องต้น บริษัทฯ มีแผนลงทุนโครงการปรับปรุงคลังสินค้าพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้า และขยายฐานลูกค้าในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในปี 2562 โดยใช้แหล่งเงินทุนจากเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ”

อีกทั้งยังเตรียมลงทุนพัฒนาคลังสินค้าเหลวเพิ่มเติมบนพื้นที่ 500 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการทั้งด้านเทคนิค และการค้า รวมถึงการขออนุญาตใช้พื้นที่เพื่อพัฒนาคลังสินค้าเหลวจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) คาดว่าจะสรุปผลและเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติโครงการดังกล่าวได้ในช่วงไตรมาส 4/61

“ทั้ง 2 โครงการที่เตรียมขยายการลงทุนในช่วงปลายปีนี้ ได้มีการทำศึกษาอย่างละเอียด โดยคาดว่าอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนจะไม่ต่ำกว่า 2 หลัก ซึ่งหากทางบริษัทตัดสินใจที่จะลงทุน เงินลงทุนจะมาจากกระแสเงินสดหมุนเวียนที่มีประมาณ 300-400 ล้านบาท และกู้ยืมจากสถาบันการเงิน”

นายณัฐภพ กล่าวอีกว่า การที่ NFC ปรับโมเดลธุรกิจใหม่ โดยหันมารุกธุรกิจลอจิสติกส์แบบครบวงจร เนื่องจากมีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะในส่วนของทำเลที่ตั้ง (Location) ที่อยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นฐานของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่สำคัญ เหมาะสมและเอื้อต่อการเชื่อมต่อระบบลอจิสติกส์ครบวงจรทั้งการขนส่งทางถนน, ทางรถไฟ, ทางน้ำ และทางท่อ ที่ตั้งคลังสินค้ามีศักยภาพพร้อมที่จะพัฒนาเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้ และธุรกิจของบริษัทฯ ถือว่ามีโอกาสขยายตัวอีกมาก จากโครงการ EEC ซึ่งจะช่วยผลักดันรายได้ในช่วง 5 ปีข้างหน้าเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ


กำลังโหลดความคิดเห็น