ผู้บริหาร “เอ็นเอฟซี” เผยพร้อมเข้าเทรด 15 มิ.ย. นี้ หลังตลาดหลักทรัพย์ฯ ไฟเขียวพ้นเหตุอาจถูกเพิกถอน และปลด SP มั่นใจธุรกิจใหม่คลังสินค้า ลอจิสติกส์ หนุนผลงานโตต่อเนื่อง ตั้งเป้าปีนี้โต 5-7%
นายณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ NFC เปิดเผยว่า บริษัทฯ พร้อมกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) ใหม่อีกครั้งในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ หลังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อนุมัติให้บริษัทฯ พ้นเหตุอาจถูกเพิกถอน โดยปลดเครื่องหมาย SP และให้หลักทรัพย์ NFC เริ่มทำการซื้อขายใน SET กลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุตสาหกรรม หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2561 เนื่องจากบริษัทปฏิบัติตามข้อกำหนดของการพ้นเหตุเพิกถอนหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์แล้ว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ จากเดิมที่เป็นผลิตและจำหน่ายปุ๋ยมาสู่การประกอบธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายแอมโมเนีย แอมโมเนียมไฮดรอกไซด์ และกรดกำมะถัน รวมทั้งให้บริการคลังสินค้า พื้นที่ประมาณ 9 หมื่นตารางเมตร โดยมีอัตราการเช่า 50% และยังมีธุรกิจลอจิสติกส์แบบครบวงจรโดยให้บริการท่าเทียบเรือในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งอยู่ในพื้นที่การลงทุนของภาครัฐในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ทำให้การลงทุนมีการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ จึงมองว่า โอกาสที่ธุรกิจจะขยายตัวยังมีอยู่สูงมาก
ส่วนธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ปัจจุบัน บริษัทฯ จำหน่ายเคมีภัณฑ์ 3 ชนิด คือ แอมโมเนีย แอมโมเนียมไฮดรอกไซด์ และกรดกำมะถัน มีฐานลูกค้าประมาณ 55 ราย กลุ่มลูกค้าแอมโมเนีย ในปี 2560 มีรายได้ 574.57 ล้านบาท หรือ 58% ของการจำหน่ายเคมีภัณฑ์ ลูกค้า 42 ราย ประกอบด้วยกลุ่มลูกค้าประเภทผู้ค้าส่ง (Trader) และกลุ่มลูกค้า ประเภทผู้ใช้ขั้นปลาย (End User) กลุ่มลูกค้า เช่น อุตสาหกรรมผงชูรส อุตสาหกรรมน้ำยางข้น อุตสาหกรรมความเย็น อุตสาหกรรมผลิตสารเคมีฯ
ขณะที่รายได้จาก แอมโมเนียไฮดรอกไซด์ ปี 2560 มีรายได้อยู่ที่ 22.69 ล้านบาท หรือ 2.29% ของรายได้จากเคมีภัณฑ์ มีลูกค้า 12 ราย คือ มีทั้งลูกค้าค้าส่ง (Trader) และกลุ่มลูกค้าขั้นปลาย กลุ่มลูกค้าก็จะอยู่ในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า, โรงแยกก๊าซ, อุตสาหกรรมกำจัดมลพิษ, อุตสาหกรรมยาง, ชาวสวนยางพารา ด้านกรดกำมะถัน” ปี 2560 มีรายได้ทั้งสิ้น 393.41 ล้านบาท หรือ 39.71% ของรายได้เคมีภัณฑ์
นายณัฐภพ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ ประมาณ 90% ส่วนอีก 10% มาจากธุรกิจบริการคลังสินค้า ลอจิสติกส์แบบครบวงจร ซึ่งคาดว่าในอนาคต สัดส่วนรายได้จากบริการคลังสินค้า ลอจิสติกส์แบบครบวงจร จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากทำเลที่ตั้งคลังสินค้ามีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์เพราะอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นพื้นที่ในEEC โดยบริษัทฯ มีแผนปรับปรุงคลังสินค้าที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มีมาตรฐาน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และขยายฐานลูกค้าในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยคาดว่จะแล้วเสร็จภายในปี 2561 ซึ่งแหล่งเงินทุนมาจากเงินทุนหมุนเวียน
อีกทั้งยังมีแผนพัฒนาคลังสินค้าเหลวเพิ่ม ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการทั้งด้านเทคนิค และการค้า รวมทั้งการขออนุญาตใช้พื้นที่เพื่อพัฒนาคลังสินค้าเหลวจาก การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. คาดสรุปผลการศึกษาเพื่อนำไปเสนอให้คณะกรรมการบริษัทฯ (บอร์ด) พิจารณาช่วงไตรมาส 4 ปีนี้
นายณัฐภพ กล่าวทิ้งท้ายว่า บริษัทฯ ใช้เวลา 15 ปี ในการดำเนินการเพื่อให้พ้นเหตุถูกเพิกถอนฯ จนสามารถกลับเข้ามาซื้อขายใหม่อีกครั้ง ซึ่งเป้าหมายธุรกิจในระยะ 3-5 ปีจากนี้ บริษัทฯ จะเน้นพัฒนาพื้นที่คลังสินค้า โลจิสติกส์ เนื่องจากมองเห็นโอกาสถึงทำเลที่ตั้ง ซึ่งมีศักยภาพ ทำให้บริษัทฯ จะผลักดันสัดส่วนรายได้จากธุรกิจคลังสินค้า โลจิสติกส์ ส่วนเป้าหมายการเติบโตของรายได้ปีนี้ และ คาดว่ารายได้จะเติบโต 5-7% จากปีก่อน ที่มีรายได้ 1.12 พันล้านบาทปัจจุบันบริษัทฯ ไม่มีผลขาดทุนสะสม และมีกระแสเงินสดในมือประมาณ 300-400 ล้านบาท มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) 0.21 เท่า
อนึ่ง ราคาหุ้น NFC ล่าสุดอยู่ที่ 1.36 บาท ทั้งนี้ เพื่อให้หลักทรัพย์ดังกล่าวสามารถซื้อขายได้ตามสภาพความเป็นจริง ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงอาศัยอำนาจตามความในข้อ 29 (1) และ (3) ของข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการซื้อขาย การชำระราคา และการส่งมอบหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2555 กำหนดให้ราคาซื้อขายหลักทรัพย์ของ NFC ในวันที่ 15 มิ.ย. 61 ไม่มีราคาสูงสุด และต่ำสุด