ผู้จัดการรายวัน 360 องศา - กลุ่มการแพทย์ รับอานิสงส์คนไทยเน้นรักษาสุขภาพ หนุนผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2561 กำไรสุทธิรวม 6,312 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 40% โรงพยาบาลกรุงเทพ โดดเด่นรายเดียวกำไรสุทธิกว่า 2.9 พันล้านบาท โบรกเกอร์เชียร์ทยอยซื้อลงทุน ราคาเป้าหมายที่ 29 บาท พร้อมปรับราคาพื้นฐาน “BH” เพิ่มอีก 3%
“ผู้จัดการรายวัน 360” ได้สำรวจผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประจำไตรมาสแรก สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 ในกลุ่มธุรกิจการแพทย์ รวมทั้งสิ้น 22 บริษัท พบว่า บจ. ทุกแห่งล้วนมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2560 โดยมีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 6,312.43 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิรวม 4,541.41 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 1,771 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วน 39.00%
หากพิจารณาถึงความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มธุรกิจการแพทย์ บจ. ที่มีผลงานโดดเด่นที่สุด สามารถทำกำไรสุทธิไตรมาสแรก สูงสุด 3 อันดับแรก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ได้แก่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ที่มีกำไรสุทธิสูงถึง 2,919.36 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.19 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 1,973.63 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.13 บาท คิดเป็นกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 945.73 ล้านบาท หรือ 47.92%
อันดับสอง บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH กำไรสุทธิ 1,079.03 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 1.48 บาท เทียบกับปีก่อนกำไรสุทธิ 1,005.29 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 1.38 บาท คิดเป็นกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 73.74 ล้านบาท หรือ 7.34% และอันดับสาม บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) หรือ SVH กำไรสุทธิ 503.81 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 5.04 บาท ขณะที่ปีก่อน กำไรสุทธิ 374.97 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 3.75 บาท หรือกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 128.84 ล้านบาท คิดเป็น 34.36%
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกำไรสุทธิไตรมาสแรกของปีนี้ กับปี 2560 บริษัทที่มีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นสูงสุด 3 อันดับแรก ส่วนมากจะเป็นที่ปี 60 ยังประสบปัญหาภาวะขาดทุน ก่อนจะพลิกสถานการณ์กลับมาทำกำไรได้ในปีนี้ และเป็นบริษัทขนาดเล็ก โดยบริษัทที่มีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่ บมจ. วัฒนาการแพทย์ หรือ NEW กำไรสุทธิ 5.35 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.53 บาท จากปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 3.83 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.38 บาท หรือกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นกว่า 239.69%
บมจ.ธนบุรี เมดิเคิล เซ็นเตอร์ (HDH) ตามมาเป็นอันดับสอง กำไรุสทธิ 1.83 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.09 บาท จากปีก่อนขาดทุนสุทธิ 9.32 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.48 บาท คิดเป็นกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 119.64% และอันดับสาม บมจ. ศิครินทร์ (SKR) กำไรสุทธิ 44.92 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.30 บาท เทียบกับปีก่อนกำไรสุทธิ 21.81 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.14 บาท หรือกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นกว่า 105.96%
“BDMS” รายได้รวมทะลุ 2 หมื่นล้านบาท
นางนฤมล น้อยอ่ำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ได้ชี้แจงสาเหตุที่ทำให้กำไรสุทธิไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นกว่า 47.92% ว่า บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้จากการดำเนินงานรวม 20,029 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากไตรมาสแรกปี 2560 การเติบโตที่แข็งแกร่งเกิดจากรายได้จากการรักษาพยาบาล และรายได้จากการจำหน่ายสินค้า โดยรายได้ค่ารักษาพยาบาลเติบโตร้อยละ 15% จากการเติบโตของศูนย์การแพทย์แห่งความเป็นเลิศทั้ง 10 แห่ง ซึ่งเติบโตได้ดีทั้งจากโรงพยาบาลเครือข่ายในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงทั้งชาวไทย และต่างชาติ
สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานนั้น ในไตรมาส 1/2561 บริษัทและบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และค่าเสื่อมราคา จำนวน 16,398 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,541 ล้านบาท หรือ 10% จากไตรมาส 1/2560 ซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานรวม
BH รายได้กิจการโรงพยาบาลพุ่ง 5.7%
นพ. ชาญวิทย์ ตันติ์พิพัฒน์ ประธานกรรมการ บมจ. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ แจ้งว่า ไตรมาส 1/2561 บริษัทมีรายได้จากกิจการโรงพยาบาล 4,621 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 โดยหลักเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากกลุ่มผู้ป่วยชาวไทย และกลุ่มผู้ป่วยต่างประเทศ ร้อยละ 7.0 และร้อยละ 4.7 ตามลำดับ เป็นผลให้ในไตรมาส 1/2561 รายได้จากกลุ่มผู้ป่วยชาวไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.5 จากทั้งหมด ขณะที่รายได้จากกลุ่มผู้ป่วยต่างประเทศ คิดเป็นร้อยละ 65.5 เทียบกับไตรมาส 1/60 อยู่ที่ร้อยละ 34.0 และร้อยละ 66.0 ตามลำดับ
ด้านต้นทุนกิจการโรงพยาบาล (รวมค่าเสื่อมราคาและตัดจำหน่าย) ไตรมาส 1/2561 อยู่ที่ 2,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 จากปี ซึ่งแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้จากกิจการโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 โดยสัดส่วนของต้นทุนกิจการโรงพยาบาลต่อรายได้จากกิจการโรงพยาบาลลดลงเป็นร้อยละ 55.2 จาก 56.1 ในไตรมาส 1/2560 ส่วนค่าใช้จ่ายในการบริหาร (รวมค่าเสื่อมราคา และตัดจำหน่าย) 767 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 ส่งผลให้กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 เป็น 1,640 ล้านบาท และอัตรา กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) คิดเป็นร้อยละ 35.2 เทียบกับปีก่อนที่ร้อยละ 34.8
SVH ไวรัสโรต้า-ไข้หวัดใหญ่หนุนรายได้เพิ่ม
บมจ. สมิติเวช (SVH) แจ้งว่า ไตรมาส 1/2561 บริษัทมีรายได้จากค่ารักษาพยาบาล และจําหน่ายสินค้า 2,957 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน จำนวน 383 ล้านบาท หรือร้อยละ 15 เนื่องจากการระบาดของโรคไวรัสโรต้า และโรคไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้ บริษัทฯ มีจํานวนผู้ป่วยชาวต่างชาติมาใช้บริการเพิ่มขึ้นจากการทําแผนการตลาดต่างประเทศ โดยโรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ มีผู้ใช้บริการเป็นชาวต่างชาติประมาณ 10% โรงพยาบาลสมิติเวชสุขุมวิท มีผู้ใช้บริการเป็นชาวต่างชาติประมาณ 40%
ส่วนค่าใช้จ่ายรวมสําหรับไตรมาส 1/2561 มีจํานวน 2,343 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนเป็นเงิน 218 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10 ซึ่งแบ่งเป็นต้นทุนขาย และให้บริการเพิ่มขึ้น 187 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11 และค่าใช้จ่ายในการขาย และบริหารเพิ่มขึ้น 31 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7 ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนค่ายา, ค่าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์, ค่าแล็บ, ค่าแพทย์ และค่าเสื่อมราคาของส่วนปรับปรุงอาคาร และอุปกรณ์ทางการแพทย์
NEW รายได้ค่ารักษาพยาบาลเพิ่ม 26%
พญ. ศุภวรรณ ตั้งสืบกุล กรรมการ บริษัท วัฒนาการแพทย์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEW กล่าวว่า บริษัทมีรายได้รวม 87.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 26.88 จากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ ทั้งผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยจากโรคระบาดตามฤดูกาล ขณะที่ต้นทุนกิจการโรงพยาบาล 60.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.43 ค่าใช้จ่ายในการบริหารเท่ากับ 19.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.38 และค่าใช้จ่ายทางการเงิน 0.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10.24
คนรักสุขภาพหนุนกำไรกลุ่มการแพทย์พุ่ง
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซียไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ FSS ประเมินผลการดำเนินงานหุ้นกลุ่มการแพทย์ ในไตรมาสแรก 2561 โดยยังคงน้ำหนักการลงทุน Overweight สำหรับกลุ่มการแพทย์ จากแนวโน้มการเติบโตที่กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง จากภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่ดูสดใสมากขึ้น โดยคาดการณ์กำไรปกติของกลุ่มในปีนี้จะเติบโตในอัตราเร่งเป็น 12.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปี 2560 ที่โตเพียง 2.6%
พร้อมกันนี้ FSS ยังได้เปลี่ยน Top Pick สำหรับโรงพยาบาลขนาดใหญ่จาก บมจ. บางกอกเชน (BCH) เป็น บมจ. กรุงเทพ ดุสิตเวชการ (BDMS) เนื่องจากราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมามาก ทำให้อัปไซส์เริ่มจำกัด ขณะที่โรงพยาบาล ขนาดเล็กยังคงเลือก บมจ. เอกชัยการแพทย์ (EKH) เป็น Top Pick จากกำไรที่ติบโตโดดเด่นในไตรมาสนี้
“เคจีไอ” แนะซื้อ “BDMS” เป้าหมาย 29 บาท
สอดคล้องกับนักวิเคราะห์ของ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ให้คำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น BDMS ให้ราคาเป้าหมาย 29 บาท โดยคาดว่าแนวโน้มกำไรจากธุรกิจหลักในไตรมาส 2/2561 ยังคงแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ทั้งนี้ มีปัจจัยมาจาก 1.หน้าฝนที่มาเร็ว 2.แพลตฟอร์มโรงพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ 3.ไม่มีแผนขยายกิจการเชิงรุกเหมือนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และ 4.ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยทรงตัว จึงประเมินกำไรจากธุรกิจหลักจะมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงปีก่อน
พร้อมกับปรับเพิ่มกำไรปกติปี 2561 ขึ้นเป็น 9.74 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 21.5% จากปีก่อน เพื่อสะท้อนถึงการปรับเพิ่มสมมติฐานอัตราการเติบโตของยอดขายและสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้น รวมถึงบริษัทสามารถคุมค่าใช้จ่ายจากการขายและบริหาร (SG&A) ได้ดี
BH กสิกรไทยให้ราคาเป้าหมาย 235 บาท
บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด ได้ประเมินหุ้น BH โดยยังคงแนะนำซื้อลงทุน และปรับราคาพื้นฐานขึ้น 3% เป็น 235 บาท เพื่อสะท้อนราคาพื้นฐานกลางปี 2562 จากสิ้นปี 2561 เพราะราคาหุ้นที่ปรับตัวลง 13% เทียบกับตลาด 3% หลังประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1 เป็นการขายมากเกินไป และคาดว่ารายค่าบริการคนไข้จะปรับตัวขึ้น และเป็นปัจจัยหลักผลักดันการเติบโตของรายได้ค่ารักษาพยาบาลในช่วงที่เหลือของปี