xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ติวเข้มกฎหมายวินัยการคลังฉบับใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังติวเข้มมาตรการรัฐ ไม่ให้เข้าข่ายนโยบายประชานิยม หลังกฎหมายรักษาวินัยการคลังบังคับใช้ คุมเข้มการใช้งบกลาง ตั้งงบชำระหนี้

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ครั้งที่ 1/2561 ครั้งแรก หลังจากกฎหมายรักษาวินัยการคลังฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ เพื่อให้รัฐบาลต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ดูแลฐานะการเงินการคลังของประเทศให้มีเสถียรภาพ และมั่นคงอย่างยั่งยืน ได้กำหนดเป็นกรอบวินัยในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี

ประกอบด้วย การจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.0 แต่ไม่เกินร้อยละ 3.5 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี จัดสรรงบประมาณเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ ซึ่งรัฐบาลรับภาระต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.5 แต่ไม่เกินร้อยละ 3.5 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ต้องตั้งงบประมาณตามภาระที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีงบประมาณนั้น

การมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินงาน ซึ่งรัฐบาลรับภาระที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ให้ เช่น แบงก์รัฐ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลราคาสินค้าเกษตรกร ธนาคารออมสินดูแลรายย่อย กำหนดอัตราการชดเชยค่าใช้จ่าย หรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐ เมื่อได้รับมอบหมายต้องมียอดคงค้างรวมกันไม่เกินอัตราร้อยละ 30 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีสัดส่วน เพื่อใช้เป็นกรอบวินัยในการบริหารหนี้ ต้องดูแลหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ต้องไม่เกินร้อยละ 60 ภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ ต้องไม่เกินร้อยละ 35

การดูแลหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดต้องไม่เกินร้อยละ 10 สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการต้องไม่เกินร้อยละ 5 กำหนดสัดส่วนการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายข้ามปีงบประมาณไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี กำหนดสัดส่วนการก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าหรือนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายงบประมาณรายจ่ายไม่เกินอัตราร้อยละ 5 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

คณะกรรมการฯ ได้จัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง โดยมีเป้าหมายการคลัง คือ การจัดทำงบประมาณแบบสมดุล ทั้งนี้ รายละเอียดในแผนการคลังระยะปานกลาง ประกอบด้วย สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ สถานะและประมาณการการคลัง สถานะหนี้สาธารณะ และภาระผูกพันทางการเงินการคลังของรัฐบาล โดยแผนการคลังระยะปานกลางดังกล่าวจะต้องนำไปเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี และให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดเก็บ หรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น