xs
xsm
sm
md
lg

ทีดีอาร์ไอ แนะไทยเร่งปรับโมเดลพัฒนาประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ทีดีอาร์ไอ แนะไทยเร่งปรับโมเดลพัฒนาประเทศ เพิ่มทักษะด้วยเทคโนโลยี เพื่อก้าวเป็นประเทศรายได้สูง 20 ปีข้างหน้า ย้ำปรับตัวไม่ทัน เสี่ยงตกงานถึงกว่าร้อยละ 50 ของแรงงานทั้งหมด

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวบนเวทีสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอ ประจำปี 2561 ภายใต้หัวข้อ “ปรับทิศทางเศรษฐกิจไทยให้พร้อมเข้าสู่ยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี” โดยระบุว่า พัฒนาการของเทคโนโลยียุคปัจจุบัน โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งด้านเซ็นเซอร์ (Sensor) การจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) และ เครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printer) เติบโตอย่างก้าวกระโดด จึงกังวลว่าจะกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจของประเทศหลายด้านอย่างรุนแรง ทั้งภาคการขนส่ง, สื่อโทรทัศน์, โทรคมนาคม, เทคโนโลยี และพลังงาน

นอกจากนี้ ยังอาจกระทบต่อการจ้างงานของแรงงาน อาจถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ (Automation) และระบบอัจฉริยะ อันเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ กระทบในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทย อาจมีผู้เสี่ยงต่อการตกงานถึงกว่าร้อยละ 50 ของแรงงานทั้งหมด ดังนั้น ไทยต้องปรับโมเดลในการพัฒนาประเทศ การจัดการศึกษา การฝึกทักษะแรงงาน การจัดระบบสวัสดิการสังคม ตลอดจนการปรับกฎระเบียบต่างๆ และบทบาทของภาครัฐ ให้สนับสนุนภาคภาคส่วน ในสังคมให้สามารถปรับตัวได้ หากประเทศไทยไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ภาคธุรกิจอาจย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ และเศรษฐกิจไทยอาจจะโตได้เพียงร้อยละ 2.1 ต่อปี น้อยกว่าที่คาดการณ์ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี และจะมีตำแหน่งงานหายไป 3 ล้านตำแหน่ง

พร้อมมองว่าประเทศไทยควรมุ่งสร้าง “เศรษฐกิจแห่งอนาคต” โดยต่อยอดวิสัยทัศน์ “ไทยแลนด์ 4.0” ด้วยยุทธศาสตร์การใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างจริงจัง เสริมด้วยการสร้างงานจากเศรษฐกิจ 3C คือ เศรษฐกิจประณีต (Craft Economy) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) และเศรษฐกิจใส่ใจ (Care Economy) เพื่อสร้างงานรายได้ดีให้แก่ประชาชน มุ่งสร้างให้เติบโตได้ร้อยละ 4.3 ต่อปี สามารถลดความเหลื่อมล้ำและก้าวเป็นประเทศรายได้สูงได้ใน 20 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ แรงงานทุกกลุ่มต้องสร้างทักษะใหม่ๆตลอดเวลา โดยรัฐบาลควรมีกลไกสนับสนุนการค้นพบความถนัดของแต่ละคน และอุดหนุนให้แรงงานได้รับการฝึกอบรมที่มีคุณภาพสูง และมีโอกาสทำงานที่มีรายได้ดี

ในอนาคตอาจมีแรงงานอิสระเพิ่มขึ้น โดยส่วนหนึ่งจะเป็นแรงงานอิสระทำงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่เรียกว่า gig worker จึงควรนำเข้าสู่ระบบประกันสังคม เพื่อสร้างหลักประกันความเสี่ยงให้กับแรงงานกลุ่มดังกล่าว โดยกำหนดให้คนงานเหล่านี้ และผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามสัดส่วนของรายได้ที่ได้รับ รวมทั้งเสนอให้ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ดิจิทัลไอดี และเงินอิเล็กทรอนิกส์ในการให้สวัสดิการแก่ผู้ยากไร้ เพื่อลดปัญหาทุจริต ซึ่งพบในหลายกรณี เช่น กองทุนเสมาพัฒนาชีวิต และเงินสงเคราะห์คนยากไร้


กำลังโหลดความคิดเห็น