ตลาดหุ้นเอเชีย ปรับตัวลดลงเช้านี้ ตามทิศทางดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ปิดร่วงลงกว่า 400 จุดเมื่อคืน (24 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นแตะระดับ 3% เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปีนั้น จะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนปรับตัวสูงขึ้น และอาจเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เปิดวันนี้ที่ 22,118.62 จุด ลดลง 159.50 จุด, -0.72% ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน เปิดวันนี้ที่ 3,112.40 จุด ลดลง 16.53 จุด, -0.53% ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เปิดวันนี้ที่ 30,486.86 จุด ลดลง 149.38 จุด, -0.49% ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เปิดวันนี้ที่ 10,541.83 จุด ลดลง 37.67 จุด, -0.36% ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เปิดวันนี้ที่ 2,444.19 จุด ลดลง 19.95 จุด, -0.81% ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ เปิดวันนี้ที่ 3,562.37 จุด ลดลง 22.19 จุด, -0.62% ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย เปิดวันนี้ที่ 1,863.48 จุด ลดลง 1.86 จุด, -0.10%
ตลาดร่วงลงหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ พุ่งทะลุระดับ 3% เมื่อคืนนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2557 โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 3.001% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.171%
การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินดีดตัวขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนมีต้นทุนในการกู้ยืมสูงขึ้น อันจะนำไปสู่การลดการลงทุน และลดการจ้างงาน ขณะเดียวกัน อาจทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่าย และจะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะซบเซา และถดถอยในที่สุด ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับอัตราเงินกู้จำนอง และอัตราดอกเบี้ยตราสารหนี้ และเครื่องมือทางการเงินในระบบ
นักวิเคราะห์จากบริษัททาวเวอร์ บริดจ์ แอดไวเซอร์ กล่าวว่า การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนกังวลว่า อาจเป็นปัจจัยผลักดันให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ความกังวลในเรื่องดังกล่าวยังได้บดบังปัจจัยบวกจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน โดยบริษัทล็อคฮีด มาร์ติน, เวอไรซอน คอมมิวนิเคชั่น, แคทเธอร์ พิลลาร์ และโคคา-โคล่า ต่างก็เปิดเผยตัวเลขกำไร และรายได้ในไตรมาส 1 สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์