ผู้ว่าฯ ธปท. หนุนแบงก์ควบรวมกิจการ ชี้เป็นจังหวะดีได้สิทธิทางภาษี เพิ่มความสามารถการแข่งขันกับต่างชาติ เพราะขนาดยังเล็กเมื่อเทียบกับแบงก์ในภูมิภาค
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศมีการควบรวมกิจการ โดยมีระยะเวลาจนถึง 31 ธันวาคม 2565 ว่า เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงการคลังที่สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์มีการควบรวมกิจการ เพื่อเพิ่มขนาดธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นสามารถแข่งขันทั้งในระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศ โดยเป็นมาตรการสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละสถาบันการเงินเอง แต่หากธนาคารพาณิชย์ไทยมีขนาดใหญ่ขึ้น ก็จะเป็นโอกาสให้สามารถแข่งขันได้ ลดต้นทุนการบริหารจัดการ มีความเข้มแข็งมากขึ้น บริหารความเสี่ยงและสามารถตอบโจทย์ธุรกิจขนาดใหญ่ได้ เพราะปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีขนาดไม่ใหญ่ และบางแห่งมีพันธมิตรเป็นผู้ถือหุ้นต่างประเทศอยู่แล้ว
ทั้งนี้ การกำหนดกรอบระยะเวลาที่สามารถใช้มาตรการนี้ ตั้งแต่เกิดการควบรวมจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เพื่อเป็นมาตรการจูงใจให้มีการควบรวม เพราะหากไม่มีระยะเวลากำหนด ก็จะไม่ทำให้สถาบันการเงินไม่รู้สึกตื่นตัว และไม่เป็นการจูงใจ โดย ธปท. จะไม่กำหนดว่าสถาบันการเงินของไทยในระยะต่อไปจะมีจำนวนเท่าใด ขึ้นอยู่กับกลไกของตลาดเป็นผู้กำหนดว่าควรมีเท่าใด แต่ช่วงนี้ถือเป็นจังหวะดีที่จะเกิดการควบรวมกัน เพราะจะได้สิทธิพิเศษทางภาษีตามมาตรการที่ออกมา
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าหากขนาดของธนาคารพาณิชย์ไม่มีขนาดใหญ่ขึ้นจะไม่สามารถรองรับการลงทุนจากต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้นั้น มองว่าการระดมทุนทำได้หลายรูปแบบทั้งในตลาดทุน และการออกตราสารหนี้ ซึ่งต้องนำหลาย ๆ เรื่องมาประกอบการ และจะต้องมีช่องทางที่มีประสิทธิภาพ มีจังหวะที่ดีจึงจะสามารถตอบโจทย์ที่หลากหลายได้
นอกจากนี้ ยืนยันว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้ทำให้รายได้ภาษีของรัฐบาลหายไป เพราะรัฐบาลไม่ได้มีรายได้จากการเก็บภาษีจากสถาบันการเงินอยู่แล้ว แต่เป็นการลดภาษีที่เป็นอุปสรรค ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ยอมที่ให้มีการตัดจ่ายได้มากกว่าหนึ่งครั้ง เพื่อเป็นการจูงใจให้เกิดการควบรวม