xs
xsm
sm
md
lg

ภาครัฐยังไม่ถ่องแท้ “เงินดิจิทัล” สมาคมไทยบล็อกเชนหวั่นทำลายโอกาส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สมาคมไทยบล็อกเชน เผยผลหารือการเข้าพบ รมว.คลัง และตัวแทนกรมสรรพากร กรณีธุรกิจสกุลเงินดิจิทัล ชี้การประกาศใช้กฎหมาย และการจัดเก็บภาษีที่ไม่รองรับอาจทำลายโอกาส วอนภาครัฐศึกษาลักษณะธุรกิจและพิจารณาแนวทางการควบคุมให้ถ่องแท้ก่อนที่จะประกาศใช้กฎหมาย

ดร. ประเวทย์ ตันติสัจจธรรม เลขาธิการ สมาคมไทยบล็อกเชน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา สมาคมไทยบล็อกเชนได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตัวแทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และตัวแทนกรมสรรพากร ให้เข้าพบเพื่อชี้แจง และขอให้ทบทวนการประกาศใช้กฎหมายสกุลเงินดิจิทัล ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง โดยผลจากการเข้าชี้แจงดังกล่าว สมาคมฯ รู้สึกเป็นกังวลใจอย่างมากทั้งในแง่ของผู้ประกอบการ Startup รวมถึงการศูนย์เสียโอกาสความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี Blockchain และการเป็นผู้นำเศรษฐกิจใน Southeast Asia
 
เนื่องจากทางสมาคมฯ เห็นว่า ธุรกิจสกุลเงินดิจิทัลเองก็มีข้อดีมากมายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมที่โปร่งใสตรวจสอบได้ การเป็นแหล่งระดมทุนในรูปแบบ ICO (Initail Coin Offering) ให้เหล่า Startup หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอจะกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในต้นทุนที่ต่ำในระยะเวลาที่รวดเร็ว อันเป็นการส่งเสริมให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีไทย ดังนั้น เพื่อให้ Startup ของคนไทยแข่งขันกับเวทีโลกได้น่าจะจัดให้เป็นหมวดธุรกรรมเฉพาะที่ได้รับทำการยกเว้นภาษีเหมือนการส่งเสริมจาก BOI ซึ่งจะดึงดูดชาวต่างชาติจากทั่วโลกย้ายถิ่นฐานมาลงทุนในเมืองไทยมากขึ้น ทำให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และทำให้ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ ICO และ Blockchain ได้อีกด้วย
 
ขณะเดียวกัน กฎหมายยังคงยืนยันให้ใช้ระบบการยืนยันตัวตนลูกค้า เพื่อเปิดใช้บริการต้องใช้วิธี Face-to-Face KYC เท่านั้น ทั้งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ยอมรับการทำ KYC ผ่านทาง Video Conference (E-KYC) ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2559 (ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส.7/2559) หากยังยืนยันในการใช้ Face-to-Face KYC ก็จะส่งผลให้คนต่างชาติซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลได้ยาก ทั้งที่การยืนยันตัวตนของลูกค้าในแบบดังกล่าวก็ได้รับการยืนยันตามหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับว่า ยังมีการสวมสิทธิบุคคลอื่นเปิดบัญชีธนาคารอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ ปัจจุบัน อัตราการฟอกเงินด้วยสกุลเงินดิจิทัลก็ลดลงอย่างมาก ดังนั้น การมีความเชื่อว่าการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลเป็นเพียง “บ่อนการพนัน” จึงอาจไม่ถูกต้องนัก
 
นอกจากนี้ สมาคมฯ ขอชี้แจงว่า การจัดเก็บภาษีเงินได้ของประเทศไทยยังเป็นอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศ แต่หากมีวิธีการเก็บภาษีที่ไม่ลงตัว หรือผิดวิธีกันตั้งแต่ตลาดเงินดิจิทัลยังไม่ทันเติบโต จะทำให้เกิดปัญหามากมายและจะทำให้เกิดการยับยั้งการเติบโตของธุรกิจ Startup โดยปริยาย โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 ยังคงเป็นปัญหาอยู่ในทางปฏิบัติ
 
กล่าวคือ การที่ผู้ออกกฎหมายมีทัศนคติว่าลักษณะธุรกิจแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลเหมือนหรือคล้ายกับธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ (Forex) นั้น เรื่องดังกล่าวยังมีความแตกต่างกันมากในเชิงภาษีอากร เนื่องจากสกุลเงินของ Forex อ้างอิงราคากลาง ทำให้สามารถเปรียบเทียบผลกำไรขาดทุนได้โดยง่าย แต่สกุลเงินดิจิทัลไม่มีราคากลาง และราคาในแต่ละเว็บไซต์ก็อาจมีราคาที่แตกต่างกันมาก จึงไม่อาจนำราคาใดราคาหนึ่งมาพิจารณาเปรียบเทียบได้
 
ดังนั้น ธุรกิจแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลจึงมีลักษณะคล้ายกับการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ราคาจะปรับเปลี่ยนตามอุปสงค์อุปทาน แต่ธุรกิจแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล กับการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ก็ยังมีความแตกต่างกัน เนื่องจากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นการซื้อขายกับเงินบาท ทำให้รู้ผลกำไรขาดทุนที่ชัดเจนเมื่อมีการแลกเปลี่ยน แต่การแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลมีทั้งการแลกเปลี่ยนกับเงินบาท และการแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินดิจิทัลด้วยกัน ซึ่งการแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินดิจิทัลด้วยกันยังคงมีปัญหาเรื่องราคากลางที่ไม่อาจนำราคาใดราคาหนึ่งมาตีราคาได้
 
จากการสอบถามในที่ประชุม กรมสรรพากรยังคงไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในเรื่องการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 โดยเฉพาะหากผู้แลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินดิจิทัลด้วยกัน ไม่มีเงินบาทอยู่ในระบบ การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย อาจต้องบังคับให้ผู้แลกเปลี่ยนขายสกุลเงินดิจิทัลเพื่อนำไปชำระภาษี ซึ่งกฎหมายมิได้เปิดช่องให้ผู้ให้บริการสามารถบังคับขายได้ และการบังคับให้ขายสกุลเงินดิจิทัลมีลักษณะเป็นการเทขาย อาจทำให้ราคาสกุลเงินดิจิทัลผันผวนอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นการแทรกแซงอุปสงค์อุปทานของตลาด
 
“สมาคมฯ มีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมให้บุคคลทุกคนต้องเสียภาษีให้แก่ประเทศไทยในอัตราที่เหมาะสม และภายใต้วิธีการจัดเก็บภาษีที่เอื้อต่อสภาพธุรกิจ โดยมีการคำนึงถึงผลดีและผลเสียในแง่ของเศรษฐศาสตร์อีกด้วย สมาคมฯ อยากขอวิงวอนภาครัฐให้ศึกษาลักษณะธุรกิจ และพิจารณาแนวทางการควบคุม และจัดเก็บภาษีให้เข้าใจอย่างถ่องแท้มากยิ่งขึ้นก่อนที่จะประกาศใช้กฎหมาย เพราะเมื่อกฎหมายฉบับดังกล่าวประกาศใช้แล้ว อาจเป็นการทำลายโอกาส และบรรยากาศดี ๆ ในการส่งเสริมการลงทุนของ Startup ที่จะมีโอกาสแข่งกับเวทีโลกให้หายไปได้ในทันที”


กำลังโหลดความคิดเห็น