xs
xsm
sm
md
lg

สะพัดร่างกฎหมายใหม่ “สรรพากร” ส่องบัญชีธนาคาร จ้องฟัน “แม่ค้าออนไลน์” หลบภาษี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจาก Pixabay.com
เผยร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มประมวลรัษฎากรฉบับใหม่ บังคับให้ธนาคาร-อีมันนี่ ส่งข้อมูล “ธุรกรรมลักษณะพิเศษ” ให้สรรพากร กรณีเงินเข้า ฝาก หรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้ง หรือตั้งแต่ 200 ครั้ง-ยอดรวม 2 ล้านขึ้นไป สะพัดหวังฟันธุรกิจออนไลน์ที่หลบภาษี ไม่ได้จดทะเบียนแวต

วันนี้ (3 เม.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า กรมสรรพากรได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (ร่าง พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) หลังจากที่กระทรวงการคลังได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา และได้ตรวจพิจารณาและทำการปรับปรุงร่างกฎหมายของรัฐบาลให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้ว โดยกรมสรรพากรได้เปิดให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1-15 เม.ย. 2561

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มประมวลรัษฎากรดังกล่าว ได้เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการนำส่งเงินภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม อาจเลือกวิธีนําส่งเงินภาษีให้แก่กรมสรรพากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่กําหนดในกฎกระทรวงแทนวิธีนําส่งตามที่บัญญัติในมาตราที่เกี่ยวข้องก็ได้ ขณะเดียวกัน ยังได้เพิ่มเติมบทบัญญัติให้การยื่นรายการหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีอากรสามารถกระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกําหนด ซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

แต่ที่วิจารณ์มากที่สุด คือ มาตรา 3 สัตตรส (หมายถึง 3/17) เพิ่มเติมบทบัญญัติให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้บริการจ่ายให้บุคคลอื่นตามคำสั่ง หรือตราสารเป็นปกติธุระ เป็นผู้มีหน้าที่นำส่งข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร ซึ่งพบว่าต้องรายงานข้อมูลของบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะพิเศษในปีที่ผ่านมา ให้กรมสรรพากรภายในเดือนมีนาคมของทุกปี

โดยธุรกรรมลักษณะพิเศษมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้ง หรือ ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 200 ครั้ง และมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งอธิบดีมีหน้าที่เก็บรักษาข้อมูลไว้ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ได้รับข้อมูล ทั้งนี้ ให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ส่งรายงานข้อมูลของบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะพิเศษให้กรมสรรพากรครั้งแรกภายใน 31 มี.ค. 2563

นอกจากนี้ยังได้เพิ่มเติมบทกำหนดโทษทางปกครองสำหรับกรณีผู้มีหน้าที่นำส่งข้อมูลที่ไม่ดำเนินการตามที่กำหนด จะมีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 1 แสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 1 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง และแก้ไขเพิ่มเติมอัตราโทษสำหรับกรณีเจ้าพนักงานเปิดเผยข้อมูลของผู้เสียภาษีอากรหรือของผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรา 10 มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รายงานข่าวแจ้งว่า ร่างกฎหมายที่ออกมาดังกล่าว เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์ เพราะที่ผ่านมาการจำหน่ายสินค้าและบริหารผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย ซึ่งมักจะมีการโอนเงินค่าสินค้าผ่านบัญชีธนาคาร หรือผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ หากสินค้าขายดี มีผู้ซื้อจำนวนมาก เมื่อส่งรายการไปให้กรมสรรพากรก็จะพิจารณาว่ามีลักษณะผิดปกติเกินกว่าบัญชีธรรมดา และประเมินว่าเป็นบัญชีเพื่อการค้าหรือไม่ ตามปกติแล้วหากมีรายรับเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเกินกว่ามูลค่าของฐานภาษีกิจการขนาดย่อม ต้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ยกเว้นบางกิจการที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย




กำลังโหลดความคิดเห็น