บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ถือเป็นหุ้นในกระแสที่ใครต่อใครกล่าวถึงในชั่วโมงนี้ ด้วยเพราะราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างหนักกว่า 55.75% จากราคาหุ้นที่เคยสร้างสถิติทำราคาปิดสูงสุดที่ถึง 69.50 บาทต่อหุ้น เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 61 และจากนั้น ทยอยปรับตัวลดลงจนมาปิดที่ระดับต่ำสุด 30.75 บาทต่อหุ้น เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 61 ลดลงไปร่วม 38.75 บาท
คำถามคือ....เกิดอะไรขึ้นกับหุ้นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ของกลุ่มพลังงานทางเลือก ซึ่งนับเป็นหุ้นพระเอกของนักลงทุนหลายคนที่เคยสะสมไว้ในพอร์ต ทำไม EA ถึงปรับตัวลดลงอย่างหนักเพียงระยะเวลาแค่ 2 เดือนกว่า หรือเพราะมีไส้ในที่รอการปะทุออกมา เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับกรณีของ บมจ. เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH)
ซึ่งมีลักษณะการเติบโตของธุรกิจ และราคาหุ้นคล้ายคลึงกัน จากหุ้นที่ใครต่อใครคิดว่าเป็นหุ้นปั่นในช่วงแรก ๆ ต่อมากลายเป็นหุ้นขวัญใจหมาชน จนติดอันดับความแข็งแกร่งทางธุรกิจ แต่สุดท้ายตกม้าตายเพราะเอาหุ้นไปคำประกันเงินกู้จนโดน Force Sell จาก Margin Loan หรือไม่?
บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ ดำเนิน 5 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1. ธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล (B100) กลีเซอรีนบริสุทธิ์ และผลิตภัณฑ์พลอยได้ 2. ธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 3. ธุรกิจพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ 4. ธุรกิจบริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า และธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และ 5. ธุรกิจวิจัย และพัฒนา
ด้านผลประกอบการ EA พบว่า บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างน่าสนใจ โดยปี 2557 รายได้รวม 7.6 พันล้านบาท เพิ่มเป็น 9.2 พันล้านบาท ในปี 2558 จากนั้น ในปี 2559 เพิ่มเป็น 1.04 หมื่นล้านบาท และปี 2561 มีรายได้ 1.17 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับกำไรสุทธิที่ระดับ 1.60 พันล้านบาท, 2.68 พันล้านบาท, 3.25 พันล้านบาท และ 3.81 พันล้านบาทตามลำดับ
ขณะที่มูลเหตุที่ทำให้ราคาหุ้น EA ตกต่ำลงอย่างหนัก พอสรุปได้ คือ 1. ข่าวลือการขายหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท จนถูกกล่าวอ้างเป็นชนวนเหตุให้กองทุนที่บริหารโดยบริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) แห่เทขายทิ้งหุ้นออกไปจนหมด 2. มาจากกรณีกระทรวงพลังงานมีแผนจะชะลอการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มเติมในช่วง 5 ปี หลังจากในปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าในระบบเพียงพอต่อการใช้งาน จนสร้างผลกระทบให้กับธุรกิจของบริษัท และ 3. การออกมาปรับลดราคาเหมาะสมของโบรกเกอร์ค่ายหนึ่งต่อบริษัทที่มองว่า P/E ที่ซื้อขายของในปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูงเกินไป
จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า บล. ไทยพาณิชย์ ได้รายงานบทวิเคราะห์หุ้น EA เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2561 โดยกำหนดคำแนะนำ “ขาย” และให้ราคาเป้าหมายปลายปี 2561 ที่ระดับ 27 บาท หลังพบว่า ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4/2560 ของ EA มีกำไรปกติต่ำกว่าคาด โดยบริษัทยังมีความเสี่ยงขาลงจากความล่าช้าของโครงการ และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสำหรับการขยายการลงทุนในโครงการใหม่
แต่ในภาพรวม แรงขายที่เข้ามากดดันหุ้น EA เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. 2561 มีจำนวนรวมกัน 102.6 ล้านหุ้นถือเป็นแรงขายที่สูงจนแรงซื้อต้านไม่อยู่ แม้ผู้ถือหุ้นใหญ่จะช่วยกันช้อนซื้อหุ้นเกือบ 10 ล้านหุ้นก็ตาม จึงถือได้ว่าบทวิเคราะห์ของ บล. ไทยพาณิชย์ น่าจะเป็นชนวนการกระหน่ำขายหุ้น EA ที่มีผลกระทบด้านเชิงจิตวิทยาการลงทุนมาก ซึ่งอาจรวมถึงการทำชอร์ตเซล หรือขายโดยไม่มีใบหุ้น เพื่อทำกำไรในช่วงหุ้นขาลง และอาจมีการบังคับขายซ้ำเติมเข้ามาด้วย
ขณะที่การขายหุ้น EA ของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว 2 บริษัทจัดการลงทุน หลายฝ่ายมองว่า อาจถือหุ้น EA มาพักหนึ่งแล้ว และเมื่อเห็นว่า ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาในระดับหนึ่ง จนเต็มมูลค่าตามปัจจัยพื้นฐาน จึงถือโอกาสเทขายทำกำไร และเป็นการลดความเสี่ยง
ส่วนการลดความเสี่ยงถือหุ้นกลุ่มพลังงานทดแทน จากกรณีทางกระทรวงพลังงาน มีแผนจะชะลอการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มเติมในช่วง 5 ปี หลังจากในปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าในระบบเพียงพอต่อการใช้งานนั้น โดยรวมย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการพลังงานทดแทนทั้งระบบ เพราะกระทรวงพลังงานเป็นผู้ซื้อรายใหญ่สุด เมื่อไม่ซื้อไฟฟ้า การขยายธุรกิจของผู้ประกอบการพลังงานทดแทนจึงมีปัญหา และทำให้ผลประกอบการชะลอตัว ขณะเดียวกัน การหันไปหาตลาดในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย เห็นได้จากบางบริษัทที่ขยายการลงทุนในต่างประเทศต้องประสบความล้มเหลว ไม่ได้รับผลตอบแทนที่ดี หรือได้รับบาดเจ็บกลับมาด้วยซ้ำ
ที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มพลังงานทดแทน เป็นดาวรุ่งมาหลายปี และกระแสธุรกิจพลังงานทดแทน ที่มาแรง ทำให้หลายบริษัทโหนกระแส ปรับโครงสร้างธุรกิจหลักใหม่ ประกาศเบนเข็มสู่พลังงานทดแทน หวังกระตุ้นการเก็งกำไรหุ้น และปัญหาของหุ้นกลุ่มพลังงานทดแทนขณะนี้ คือ ราคาที่ปรับฐานกันลงแรงในรอบนี้ ซึมซับรับข่าวร้ายเสร็จสิ้นแล้วหรือยัง?
สิ่งสำคัญ ปัจจุบัน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ทำได้ 8,600 เมกะวัตต์ คิดเป็น 43.9% ของกำลังการผลิตตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก ฉบับปี 2558-2579 ที่ 1.96 หมื่นเมกะวัตต์ เป็นแผนระยะยาว 20 ปี จึงเหลือกำลังการผลิตอีกราว 1.1 หมื่นเมกะวัตต์ ที่จะเกิดช่วง 19 ปีนี้ เฉลี่ยตกปีละแค่ 580 เมกะวัตต์ เท่านั้น ทำให้การเปิดประมูลต่อจากนี้จึงต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป
จากข้อมูลดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า หุ้น EA ที่หล่นวูบลงมารอบนี้ ไม่น่าจะเกิดจากขบวนการทุบ หุ้น แต่เป็นจังหวะที่หุ้นจะปรับตัวลง เพราะ EA ขึ้นมาเร็ว และแรง จนปัจจัยพื้นฐานรองรับไม่ทัน และเมื่อบทวิเคราะห์ บล. ไทยพาณิชย์ ออกมาตอกย้ำ ทั้งกองทุน ทั้งนักเก็งกำไร ทั้งนักลงทุนรายใหญ่และรายย่อย จึงเฮโลชิงขายลดความเสี่ยง ทำให้พอสรุปได้ว่าไม่มีใครเป็นเจ้าภาพในการทุบ EA แต่อย่างใด
ที่ผ่านมา ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นใหญ่ EA ออกมายืนยันว่า ไม่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่รายใด ขายหุ้น EA ออกไปตามข่าวลือที่ปรากฏออกมา โดย “สมโภชน์ อาหุนัย”ประธานกรรมการบริหารบริษัท และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสองยืนยันว่า บริษัทได้ปิดสมุดทะเบียนเพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นแล้ว พบว่ากลุ่มผู้ที่ขายหุ้นออกมามากเป็นพิเศษคือ กองทุนหุ้นระยะยาวของ บลจ. ประมาณ 42 ล้านหุ้น และยังมีการขายชอร์ตเซลอีกจำนวนรวมกว่า 48.9 ล้านหุ้น โดยเฉพาะจากบุคคลธรรมดา 2 รายที่มีจำนวนหุ้นสูงถึง 12 ล้านหุ้น จึงเกิดผลทางจิตวิทยาต่อราคาหุ้น EA ที่ซื้อขายอยู่บนกระดาน ประกอบกับมีการปล่อยข่าวลือด้านลบมากมาย เช่น ตนและครอบครัวขายหุ้นทิ้ง เพราะมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง รวมถึงข่าวลือว่าบริษัทมีปัญหาการเงินจนอาจต้องมีการเพิ่มทุน และผลประกอบการปี 2560 ต่ำกว่าที่คาด และจะแย่ลงอีก
“ทั้งหมดนี้ ขอยืนยันว่าตนเองและครอบครัวไม่ได้มีการขายหุ้นออกมาแม้แต่หุ้นเดียว รวมถึงผู้บริหารหลัก ๆ ทุกคน ก็ไม่ได้มีการขายหุ้นออกมาเช่นกัน ส่วนกรณีที่นักวิเคราะห์แต่ละรายมีความเห็นด้านราคาหุ้นแตกต่างกันระหว่าง 27-110 บาท ส่วนตัวมองว่าเป็นเหตุจากความรู้ความเข้าใจ และความเชื่อมั่นในธุรกิจของบริษัทที่ไม่เท่ากัน”
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนการลงทุนโครงการสำคัญ ๆ ในช่วงปี 2561-62 ด้วยงบลงทุนประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่บริษัทจะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเข้ามาในปีนี้ประมาณ 8 พันล้านบาท และปีหน้า คาดว่าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งมาจากรายได้การขายไฟฟ้า ดังนั้น จึงเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายลงทุน โดยจะรวมกับการกู้ยืมระยะยาวเพียงบางส่วน ซึ่งคาดว่าจะเป็นดำเนินในช่วงปี 2562
ทั้งนี้ ในปี 2561 บริษัทจะใช้เงินลงทุน 1.8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานลม จ.ชัยภูมิ ขนาดกำลังการผลิต 260 เมกะวัตต์ ซึ่งได้รับเครดิตจากซัพพลายเออร์ให้ชำระเงินส่วนใหญ่กว่า 1 หมื่นล้านบาทในเดือนมีนาคม ปี 2562 จึงไม่กระทบกับแผนการจัดการด้านการเงินของบริษัท ขณะที่กังหันลมชุดแรกมาถึงแล้วเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา และจะนำไปติดตั้งทันที จึงมั่นใจว่า โครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จ และ COD ได้ในช่วงปลายปีนี้
นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่เฟสแรกขนาด 1 GWh โดยจะใช้เงินลงทุนราว 4 พัน ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มลงทุนภายในปีนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ และจะลงทุนระบบสาธารณูปโภคไว้เผื่อสำหรับรองรับการก่อสร้างโรงงาน จากที่ตั้งเป้าไว้ทั้งหมด 50 GWh ด้วย ซึ่งบริษัทได้ยื่นขอรับการส่งเสริมภายใต้ พ.ร.บ. EEC เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะแล้วเสร็จประมาณไตรมาส 2/62 จากนั้น จะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ เฟสแรก ส่วนเฟสที่สองอีก 49 GWh นั้น จะยังคงมุ่งเน้นเป้าหมายอุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเป็นหลัก และสามารถรองรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตได้
ขณะเดียวกัน บริษัทเตรียมปรับโครงสร้างเป็นบริษัทเพื่อการลงทุน หรือโฮลดิ้ง คาดว่า ดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2562 ทั้งนี้ เพื่อให้มีความคล่องตัวในการทำธุรกิจมากขึ้น และช่วยลดความเสี่ยงเรื่องภาระผูกพัน ทำให้มีความสามารถในการกู้ได้มากขึ้นในอนาคต