หุ้นไทยยังมีโอกาสขยับขึ้นต่อ หลังเผชิญความวิตกกังวลจากปัจจัยลบระยะสั้นทั้งภายในและนอกประเทศ เข้ามากดดันจนดัชนีลดลงกว่า 2.2% จากช่วงต้นปี กูรูให้น้ำหนักเข้าลงทุนรับเงินปันผล และหุ้นที่ราคาซื้อขายต่ำกว่าอุตสาหกรรม เหตุช่วงที่ผ่านมา เหมือนการพักฐาน ทำให้หลายบริษัทราคาหุ้นมีโอกาส Upside
ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วง 3 เดือนแรกปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า ดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ในแดนลบมากกว่าบวก หลังประเดิมสร้างสถิติใหม่รับปี 2561 โดยเพียงวันแรกของปีที่เริ่มการซื้อขายดัชนีหลักทรัพย์สามารถขึ้นไปยืนถึง 1,778.53 จุด เพิ่มขึ้น 24.82 จุด หรือ 1.42% จากวันสุดท้ายที่ทำการซื้อขายของปี 2560 อย่างไรก็ตาม พอมาถึงช่วงกลางเดือนเมษายน ดัชนีกลับเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 1,740 จุด ลดลงกว่า 38 จุด หรือ -2.2% ของช่วงต้นปี
ขณะที่ภาพรวมมูลค่าการซื้อขายสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.-5 เม.ย. 2561 พบว่ามีแรงขายสุทธิจากนักลงทุนต่างประเทศสูงถึง 60,707.99 ล้านบาท ถัดมาคือการขายสุทธิของบัญชีหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) จำนวน 1,198.20 ล้านบาท ด้านการซื้อสุทธิสะสมมากที่สุด คือ กลุ่มนักลงทุนทั่วไปที่ระดับ 46,431.53 ล้านบาท ตามมาด้วยสถาบันในประเทศที่ระดับ 15,473.76 ล้านบาท
จากตัวเลขดังกล่าวทำให้ต้องย้อนกลับไปดูในช่วงต้นปี 2561 ว่า ช่วงเวลาดังกล่าวหลายปัจจัยสนับสนุน และเอื้อต่อการผลักดันดัชนีหุ้นไทย เนื่องจากกระแสเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามา เพราะช่วงเวลานั้น สถานการณ์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากผลตอบแทนไม่สูงมาก อีกทั้งผลตอบแทนในตราสารหนี้สหรัฐฯ และตราสารหนี้ไทยไม่ต่างกันมาก จึงทำให้เงินไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้น ทองคำ และน้ำมันมากขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลยุค คสช. ของไทย ออกมายืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างช้า คือ ช่วงปลายปี 2562 ยิ่งช่วยเพิ่มความน่าสนใจต่อตลาดหุ้นไทย ณ เวลานั้นมากขึ้น
แต่พอมาสถานการณ์ในปัจจุบัน ดัชนีเคลื่อนไหวในแดนลบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันในหุ้นกลุ่มธนาคาร ท่ามกลางความกังวลต่อผลประกอบการในระยะข้างหน้า ประกอบกับหุ้นกลุ่มพลังงาน ยังได้รับแรงกดดันจากการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงความกังวลของนักลงทุนต่อมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และจีน ทำให้ดัชนีไม่สามารถผ่านพ้นจุดสูงสุดเดิมเพื่อสร้างสถิติใหม่ได้
ทำโดยรวมในเดือนเมษายน 2561 ทิศทางการเคลื่อนไหวดัชนีหุ้นไทย หลายฝ่ายเชื่อว่าอยู่ในระดับที่ทรงตัว หรือปรับตัวลดลงไปอีกในระดับหนึ่ง เนื่องจากมีช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีวันหยุดยาว และ ประเด็นต่อเนื่องของมาตรการทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน กดดันให้นักลงทุนต้องปรับพอร์ตรองรับสถานการณ์
สำหรับกรณีผลกระทบจากความกังวลในเรื่องของสงครามการค้าระหว่างจีน กับสหรัฐฯ จนทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงไปมากนั้น “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นว่า เป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นทั่วโลก และตลาดหุ้นไทยก็ได้รับผลกระทบในเรื่องดังกล่าวตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ในแง่ของพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยถือว่าแข็งแกร่งไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง
“ภาพรวมของประเทศไทย ตัวเลขการส่งออกก็ปรับตัวดีขึ้น เงินสำรองระหว่างประเทศก็อยู่ในปริมาณที่สูง ดังนั้น จึงมองว่าความกังวลจะเกิดขึ้นระยะสั้นเท่านั้น”
เช่นเดียวกับความวิตกกังวลต่อการยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมออนไลน์ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าความวิตกเรื่องความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มธนาคาร จนเกิดแรงเทขายหุ้นในกลุ่มดังกล่าวออกมาเป็นความตื่นตระหนกที่มากเกินไปของนักลงทุนทั้งในปละต่างประเทศ แต่ในระยะยาวแล้วกลุ่มธนาคารยังมีศักยภาพและแข็งแกร่ง เพราะมีการปรับตัวด้านเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน เพื่อรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นมาแล้ว
ดังนั้น ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญตลาดหุ้น หลายต่อหลายเสียงเชื่อว่านี่คือปัจจัยลบระยะสั้นที่เข้ามากดดันตลาดเท่านั้น แต่โครงกรลงทุนของภาครัฐที่ออกมาเป็นจำนวนมาก และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยที่ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลก จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้ดัชนีหุ้นไทยในปี 2561 ยังมีโอกาสขยับขึ้นไปแตะที่บริเวณ 1,900 จุดได้
ไม่เพียงเท่านี้ สิ่งที่นักลงทุนควรให้น้ำหนักเพิ่มเติม สำหรับการลงทุนในช่วงเดือนเมษายนนี้ดัวยคือ แรงกดดันจากการประกาศจ่ายปันผลและการขึ้นเครื่องหมายผู้ซื้อหลักทรัพย์ไม่ได้สิทธิรับเงินปันผล (XD) ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประมาณ 70 บริษัท ซึ่งเป็น บจ. ที่มีมาร์เกตแคปใหญ่ ซึ่งจะส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลง
ล่าสุด มีรายงานจาก บล.ทิสโก้ ระบุว่า จากสถิติย้อนหลัง 7 ปี พบว่ากว่า 70% ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ของทุกปี จะเป็นช่วงที่หุ้นไทยจะปรับตัวขึ้น โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการที่นักลงทุนเข้ามาช้อนซื้อหุ้นปันผลดีก่อนที่ บจ. จะประกาศจ่ายปันผล ซึ่งในปี 2560 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รายงานว่ามี บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประกาศจ่ายเงินปันผลรวมทั้งสิ้น 487 บริษัท (ไม่รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน) มูลค่ารวม 478,092 ล้านบาทแบ่งเป็น บจ. ใน SET 400 บริษัท มูลค่าเงินปันผล 473,270 ล้านบาท และ บจ.ใน mai 87 บริษัท มูลค่าเงินปันผล 4,822 ล้านบาท โดยมูลค่าเงินปันผลส่วนใหญ่ หรือ 52% ของทั้งหมด เกิดจาก บจ. หมวดพลังงาน และสาธารณูปโภค ธนาคาร และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นอกจากนี้ มีอัตราเงินปันผลตอบแทน โดยเฉลี่ยเท่ากับ 3.41% ขณะที่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Property fund & REITs) มีอัตราเงินปันผลตอบแทนโดยเฉลี่ย 5.97% และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน มีอัตราเงินปันผลตอบแทนโดยเฉลี่ย 7.04%
นอกจากนี้ บล. กรุงศรี ให้ความเห็นว่า สิ่งที่นักลงทุนต้องติดตามเพิ่มเติม คือ แรงเก็งกำไรจากผลประกอบการในช่วงไตรมาส 1/61 ของบริษัทจดทะเบียนที่จะเริ่มทยอยประกาศออกมาในช่วงปลายเดือนเมษายน เมื่อบวกกับดัชนีหุ้นไทยช่วงที่ผ่านมา ได้ปรับฐานลดลงมาระดับหนึ่งแล้ว ถือว่ามีโอกาสเห็นสัญญาณการปรับตัวขึ้นอีกครั้งของดัชนีหลักทรัพย์ในช่วงปลายเดือนนี้
เพราะมีหลายบริษัทที่ช่วงก่อนหน้านี้ราคาปรับตัวลดลงมาก ทำให้ปัจจุบันราคาหุ้นมี Upside สูง และหุ้นเหล่านี้น่าจะเป็นปัจจัยที่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนให้ไหลกลับเข้ามาสู่ตลาดหุ้น เพื่อเก็งกำไรจากผลประกอบการที่จะประกาศออกมา ซึ่งเบื้องต้น คาดว่ากลุ่มธุรกิจที่จะประกาศงบไตรมาส 1/61 ออกมาโดดเด่นคือ กลุ่มธุรกิจน้ำมันและปิโตรฯ จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง, กลุ่มท่องเที่ยว รับอานิสงส์จำจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และกลุ่มค้าปลีกที่กำไรฟื้นตัวจากฐานที่ค่อนข้างต่ำในปีที่ผ่านมา และได้ผลบวกจากรายได้ของบริโภคที่เริ่มฟื้นตัว
จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ช่วงที่เหลือของเดือนเมษายน พอที่จะสรุปได้ว่าตลาดหุ้นยังมีความเสี่ยงจากภาวะตลาดที่ผันผวนเกิดขึ้นอยู่ แต่หากนักลงทุนไม่ได้คิดมากกับตัวเลขกำไรที่จะได้มา หรือไม่รีบร้อนมากนัก การถือไว้เพื่อรับปันผลจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ส่วนหลักทรัพย์ที่น่าเข้าลงทุน หลายฝ่ายให้น้ำหนักไปที่ การเข้าซื้อหุ้นที่ราคายังต่ำกว่าอุตสาหกรรม ในกลุ่มที่จะได้ปัจจัยบวกจากการลงทุนภาครัฐ เช่น กลุ่มธนาคาร รับเหมาก่อสร้าง และนิคมอุตสาหกรรม