xs
xsm
sm
md
lg

CIMBT มองหลายปัจจัยในและต่างประเทศรุมเร้า ศก.ไทยปี 61

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


CIMBT ปรับคาดการณ์ GDP ปี 61 โต 3.7% จากเดิมคาด 4% หลังหลายปัจจัยในและต่างประเทศรุมเร้า ระบุหลายสงครามเริ่มแสดงผลกระทบแล้ว

สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ปรับประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 61 มาที่ 3.7% จากเดิม 4% จากการที่ประเทศไทยกำลังเผชิญสงครามเศรษฐกิจจากภายนอกและภายในประเทศ เป็นความเสี่ยงที่อาจฉุดจีดีพีปีนี้เติบโตไม่เท่าที่เคยคาดการณ์ ขณะที่ความเสี่ยงภายในประเทศหลัก ๆ มาจากภาคการลงทุน ที่เกิดจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ได้แก่

สงครามทางทหาร ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีเหนือ และตะวันออกกลาง และปรากฏการณ์ความตึงเครียดล่าสุดระหว่างชาติตะวันตก กับรัสเซีย กดดันบรรยากาศการลงทุน การท่องเที่ยว และส่งผลให้เงินทุนมีความผันผวน

สงครามการค้า สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าเพื่อลดการขาด ดุลการค้ามหาศาล และอาจถูกตอบโต้จากประเทศคู่ค้า ทำให้การค้าโลกชะลอ กระทบการส่งออกไทยทั้งทางตรง และทางอ้อม แต่หลัก ๆ จะเป็นทางอ้อม เพราะไทยเป็นห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ จีน และประเทศอาเซียน

สงครามค่าเงิน สืบเนื่องจากสงครามการค้าทำให้หลายประเทศเศรษฐกิจชะลอ สหรัฐฯ ยูโรโซน หรือญี่ปุ่น พยายามทำค่าเงินตัวเองให้อ่อนค่าลงเพื่อช่วยผู้ส่งออก ซึ่งไทย และประเทศอื่นในอาเซียน ก็ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากจากความไม่มั่นใจในสกุลเงินสำคัญ เงินจึงไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ ซึ่งไทยเป็นเหยื่อของสงครามค่าเงิน และปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือลดการแข็งค่าของค่าเงินบาท กระทบผู้ส่งออก ส่วนผู้นำเข้าเองก็อาจชะลอนำเข้าเครื่องจักรเพื่อรอค่าเงินแข็งค่ากว่านี้

สงครามภาษี สหรัฐฯ ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้กลับไปลงทุนในสหรัฐฯ ขณะที่ไทยเองก็ลดภาษีและสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนมาลงทุนใน EEC ซึ่งอีกประเทศก็พร้อมแข่งกันลดภาษีเพื่อจูงใจนักลงทุนสุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์สูงสุด คือ นักลงทุนต่างชาติ แต่ประเทศที่จะช่วงชิงนักลงทุนต่างชาติได้ต้องอาศัยมากกว่าภาษี เช่น แรงงานฝีมือ โครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบที่เอื้อต่อการลงทุน ถ้าไทยมุ่งแข่งเรื่องภาษี ไทยมีแต่จะแพ้

สงครามจิตวิทยา สิ่งที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำตลอด 1 ปีกว่าที่ผ่านมา และประสบความสำเร็จ คือ ใช้วิธีการให้คนสับสน คู่ต่อสู้คาดเดาไม่ออก เพื่อบรรลุผลที่ตั้งใจไว้

สงครามการก่อการร้าย คล้ายสงครามทางทหาร แต่คาดเดายาก และจุดประสงค์เพื่อทำให้คนหวาดกลัว ส่งผลกดดันบรรยากาศการลงทุน การท่องเที่ยว ตลาดเงินผันผวนระยะสั้น

ขณะที่สงครามภายในประเทศ ประกอบด้วย สงครามชนชั้น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจรอบนี้เป็นการเติบโตบนความเหลื่อมล้ำ ผู้ได้ประโยชน์ คือ ธุรกิจขนาดใหญ่ และคนรายได้ระดับกลางถึงบนขึ้นไป ขณะที่กลุ่ม SME และคนระดับฐานราก ยังมีปัญหาทางเศรษฐกิจ รายได้ภาคเกษตรยังตกต่ำ สะท้อนภาพความแตกต่างทางรายได้ของคนไทย ซึ่งอยากเห็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโต และกระจายตัวอย่างทั่วถึงมากกว่ามุ่งเน้นการเติบโตอย่างเดียว

สงครามวัย ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุแล้ว และกำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็ว มีผลให้การจัดสรรทรัพยากรเพื่อดูแลผู้สูงอายุเกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่ควรดูแลผู้สูงอายุโดยไม่ละทิ้งคนวัยเด็ก และวัยเริ่มทำงาน เพราะคนกลุ่มนี้กำลังจะแบกรับภาระทางภาษีเพื่อเลี้ยงดูคนสูงอายุในอนาคต ควรเก็บภาษีให้เหมาะสมกับสวัสดิการแต่ละช่วงอายุ เริ่มกระตุ้น และให้แรงจูงใจคนวัยทำงานเริ่มออมเงิน และลงทุน เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยไม่ต้องพึ่งพาภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม สำนักวิจัยฯ ยังเชื่อมั่นในเทฟลอนไทยแลนด์ หรือภาวะที่เศรษฐกิจไทยมีความทนทานต่อปัจจัยที่จะเข้ามากระทบ จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่กลับไปชะลอลงต่ำกว่า 3% และหวังว่า ถ้าปัญหาได้รับการแก้ไข โอกาสที่จะได้เห็นเศรษฐกิจไทยเติบโตเหนือ 4% ยังมีอยู่ ซึ่งตัวแปรสำคัญ คือ รัฐบาลจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนและผู้บริโภคว่า นโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจต่าง ๆ จะถูกสานต่อไปยังรัฐบาลชุดต่อไปโดยไม่หยุดชะงัก อีกทั้งสามารถเร่งกระจายรายได้ สร้างการเติบโตทางกิจกรรมเศรษฐกิจในระดับฐานรากโดยไม่บิดเบือนกลไกตลาด แม้จะเป็นโจทย์ยาก แต่ยังหวังว่า ท้ายสุด รัฐบาลจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นเพื่อท้าทายปัญหาทั้งนอกและในได้

ขณะที่คาดว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะทรงตัวที่ระดับ 1.5% โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด มีมติคงดอกเบี้ยด้วยคะแนนเสียงโหวต 6 คนให้คงดอกเบี้ย และมี 1 คนโหวตให้ขึ้นดอกเบี้ย แต่มองว่าเร็วไปที่ กนง. ส่วนใหญ่จะขึ้นดอกเบี้ย จึงคาดว่าดอกเบี้ยจะคงที่ 1.5% ทั้งปี อย่างไรก็ตาม ปลายปีจะเห็นแรงกดดันการขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น จากปัจจัยเงินเฟ้อ เศรษฐกิจเติบโต ประกอบกับเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า โดยสิ้นปีคาดแตะ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น