แม้ว่า Cryptocurrency กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่การลงทุน ICO (Initial Coin Offering) ของนักลงทุน ยังมีบางสถานการณ์ที่ทำให้ Trader หวั่นใจอยู่บ้างเพราะเป็นตลาดการเงิน การระดมทุนในรูปแบบใหม่ ความรู้เลยยังน้อย มีความผันผวนของตลาด ราคาเหวี่ยงขึ้น และดิ่งลง Trader กลัวว่าลงทุนไปแล้วเงินจะสูญเปล่า นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของรัฐบาล และกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่รัฐบาลเข้ามาควบคุม จะทำให้การทำงานนั้นลำบากมากขึ้น เพราะต้องอยู่ภายใต้รัฐบาล และกฎหมาย แม้จะเป็นในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ลงตัวเท่าไรนัก
อีกหนึ่งนัยยะสำคัญที่ทำให้ค่าเหรียญ หรือตลาด มีความไม่แน่นอน คือ การเกิดแบบไม่จำกัดของสกุลเงินดิจิทัลใหม่ ๆ หรือที่เรียกว่า ICO Bubble ทำให้การลงทุนในรูปแบบ ICO นั่นยังถือเป็นความกังวลที่มีความเสี่ยงที่จะล้มเหลวสูง แต่ในความน่ากลัวก็ยังมีโอกาสซ่อนอยู่ คือ เมื่อเกิด Bubble ทาง ICO ระบบจะกำจัดเหรียญสกปรกที่ไม่ก่อประโยชน์ทิ้งทันที
ความหมายที่แท้จริงของคำว่า ICO Bubble คือ การระดมทุนในรูปแบบใหม่ของบริษัทที่เป็น Start Up คล้ายกับการระดมทุนออกหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ แต่แตกต่างกันที่นักลงทุนจะได้รับเป็นเหรียญคริปโต ไม่ใช่เป็นหุ้น ซึ่งเหรียญคริปโตก็จะมีหลายชนิด เช่น ให้สิทธิในการโหวต การแบ่งรายได้ เป็นค่าใช้จ่ายในระบบ เป็นต้น การระดมทุนแบบ ICO จึงเป็นที่นิยม เพราะมีผลตอบแทนที่สูง แต่เมื่อมีผลตอบแทนที่สูง ผลกระทบที่ตามมาก็มีมากเช่นเดียวกัน
ผลกระทบของ ICO เกิดจากการที่นักลงทุนแห่กันไปลงทุน และสุดท้ายก็ขายทิ้ง เนื่องจากไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันเท่าที่ควร พูดได้ว่าเป็นค่าเงินลวงที่นักลงทุนต่างคิดกันไปเอง ภาวะนี้จึงเป็นที่มาของภาวะฟองสบู่
ตัวอย่าง คือ หุ้นของอเมซอน ในปี 1997 ราคาขึ้นสูงถึง 105 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนเมษายน และในปี 1999 ราคาหุ้นขึ้นไปอย่างรุนแรงถึง 70 เท่า แต่ในเดือนกันยายน ปี 2001 ถือเป็นจุดต่ำสุดของหุ้นอเมซอน และหลังจากนั้น ก็กลับขึ้นมาได้อย่างคงที่
ตลาด Amazon จะมีความผันผวนของราคาในปี 1997-2017 ราคาจะขึ้น ๆ ลง ๆ แต่สุดท้ายก็จะกลับมาคงที่ นั่นแสดงให้เห็นว่า Bitcoin นั้น แม้จะมีอัตราความผันผวน แต่สุดท้ายก็จะกลับมาคงที่ในที่สุด
แต่ไม่ว่ายังไง ICO ก็ยังเป็นตัวเลือกของนักลงทุนยุคใหม่อยู่ดี เพราะคนจะเข้ามาซื้อตอนเหรียญเข้า Exchange อย่างน้อยนักลงทุนจะได้เท่าตัว แต่มากหน่อยก็อาจจะเก็บไว้เกร็งกำไรไปเรื่อย ๆ และขายทิ้ง ซึ่งทำให้ฟองสบู่ขยายไปเรื่อย ๆ
ทั้งนี้ วิธีแก้ไขของ ICO คือ การคัดกรองจากภาครัฐ โดยการตรวจสอบว่า บริษัทนั้นมีตัวตนอยู่จริง คัดกรองผ่าน Social โดยตรวจสอบว่า คนที่มาให้ข้อมูลด้านบวกนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ สุดท้าย ตรวจสอบด้วยตัวเอง คือหาข้อมูลในการลงทุน และศึกษาข้อมูลให้พร้อมก่อนจะเริ่มลงทุน
ความคิดเห็นของการลงทุนแบบ ICO จากคนในวงการ และโอกาสในการลงทุนกับ ICO
นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ให้มุมมองว่า “คนเริ่มเห็นประโยชน์ของมันในแง่ที่ว่ามันเป็นเงินจริง ๆ และเป็น “เงินแห่งอนาคต” เพราะมันถูกออกแบบมาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล กับเทคโนโลยีอิเล็คโทรนิกส์คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ต้นปี 2017 ราคาบิตคอยน์ ปรับตัวทะลุจุดสูงสุดเดิม ราคาปิดที่ประมาณ 1,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ 1 บิตคอยน์ และหลังจากนั้น ราคาบิตคอยน์ ก็ปรับตัวขึ้นขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนมีราคาสูงสุดถึง 2,850 เหรียญสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2017 คนที่ถือบิตคอยน์ ไว้ตั้งแต่ราคาบิตคอยน์ เท่ากับ 0.06 เหรียญ เมื่อ 7 ปีก่อน จะได้กำไรเกือบ 50,000 เท่า มีน้อยคนที่ไม่ขายในช่วงที่ผ่านมา แต่คนที่ถือในราคา 1 เหรียญ ก็น่าจะกลายเป็นมหาเศรษฐีได้ ถ้าซื้อไว้พอสมควร และถือยาวมาจนถึงวันนี้”
ขณะที่อาจารีย์ ศุภพิโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน ก.ล.ต. ได้เสนอมุมมองต่อการระดมทุนในรูปแบบ ICO ว่า “ICO คือ สิ่งใหม่ ซึ่งผู้กำกับดูแลและนักลงทุนยังคงต้องศึกษาและพัฒนาร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันทั่วโลก นอกจากนี้ กลไกของ ICO คือ ผู้ที่สนใจจะลงทุนเขียนเอกสารเชิญชวนผู้ร่วมลงทุน และมอบกำไรเป็นเหรียญ Token หรือเป็นเงินปันผลจากการประกอบการให้ สัญญาที่ทำขึ้นจะทำเป็น Smart contact อยู่ในเครือข่าย Blockchain”
นอกจากนี้ ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์และผู้แนะนำการลงทุนด้านตลาดทุนรับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ให้มุมมองว่า “Digital currency เป็นระบบที่ยังเดินหน้า พัฒนาอยู่ตลอดเวลา และมีแนวโน้มความต้องการใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากทั่วโลก ทำให้สามารถมั่นใจได้ว่า Digital currency ยังไปต่อได้อีกไกล เพราะนี่เป็นแค่ยุคเริ่มต้นของ Digital Currency เท่านั้น ”
ขณะที่วันเฉลิม ลังกาวิเขต ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฮชบีเอ็กซ์ โกลบอล จำกัด (HashBX) เหมืองขุดบิทคอยน์ในประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์การลงทุน Cryptocurrency ,ICO ,และ Bitcoin ในประเทศไทยว่า ในปี 2017 ที่ผ่านมานักลงทุนสาย Cryptocurrency และเก็งกำไร Bitcoin ทั้งมือใหม่มือเก๋าต่างได้รู้จักกับการลงทุนรูปแบบใหม่ในโลกออนไลน์ภายใต้การนิยามศัพท์ใหม่ในโลกดิจิตอล Initial Coin Offering หรือ ICO ซึ่งแพร่หลายกันอย่างกว้างขวางภายในเวลาอันรวดเร็วและคึกคักเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ในวงการสายเทคโนโลยีด้าน Blockchain และการลงทุนใน ICO ช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเลือกลงทุนตัวไหนก็ตาม ทุกตัวสามารถให้ผลตอบแทนและผลกำไรไม่มากก็น้อย บางตัวเติบโตเป็น 10 เท่าหรือ 100 เท่าภายในปีเดียวก็มีมาให้เห็นกันแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบัน ICO เป็นที่เลื่องลือสร้างเศรษฐีใหม่ในวงการลงทุน Crypto เพียงชั่วข้ามคืนได้ทั่วทุกมุมโลกมากมายเลยทีเดียว (หนึ่งในนั้นรวมถึงคนไทยหลายคนด้วย) จนถึงในปี 2018 นี้ การเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมาทำให้บริษัทต่าง ๆ จำนวนมากทั้งในและนอกวงการ Fin tech ต่างให้ความสนใจเพื่อเกาะติดกระแส จากการระดมทุนระดับ Micro ให้เข้าถึงนักลงทุนทั้งปลาเล็กปลาใหญ่ได้ทั่วโลกอย่างง่ายดาย ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีบริษัทวงการโทรคมนาคม โครงการด้านพลังงานสะอาด โครงการอสังหา วงการนักแต่งเพลงศิลปินนักร้อง สหกรณ์แท็กซี่ ต่างเริ่มปรับตัวเข้าหาเครื่องมือ ICO ในการแก้ไขปัญหาในระบบเดิม Offline เพื่อหวังให้ระบบ Blockchian ช่วยเปลี่ยนโลกการทำธุรกิจให้ง่ายขึ้น มีความทันสมัย คล่องตัว และก้าวสู่ยุคธุรกิจ 4.0 อย่างเต็มตัว ซึ่งนักลงทุนต่างให้ความสนใจและติดตามบริษัทเหล่านี้อย่างใกล้ชิด และในปีนี้คาดว่ามีบริษัทจากทุกแวดวงธุรกิจต่างเข้ามาในระบบ Blockchain การเติบโตเมื่อเทียบปีที่ผ่านมาถึง 10 เท่า มีบริษัทจากทุกภาคอุตสาหกรรมพร้อมใจเปิด ICO โดยเฉพาะในประเทศไทยตื่นตัวเปิดตัวพร้อมกันไม่ต่ำกว่าเดือนละ 10 บริษัท และบริษัทเหล่านี้หวังอย่างยิ่งว่าสิ้นปีนี้ จะมีบริษัทที่เข้า ICO ในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 100 บริษัท และเชื่อมั่นว่าจาก กฎหมายต่าง ๆ ของประเทศไทยที่เริ่มชัดเจน ภาครัฐ กลต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การส่งเสริม สนับสนุนอย่างถูกทาง เราจะได้เห็น ICO น้ำดี สัญชาติไทยหลาย ๆ โครงการ สู่เวทีระดับโลกได้ไม่ยากนักในเร็ว ๆ นี้
ด้านนิรันดร์ ประวิทธ์ธนา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AVA Advisory บริษัท ฯ ที่พัฒนา application ครบวงจร สำหรับนักลงทุนในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามหุ้น หรือหลักทรัพย์ เปรียบเสมือนผู้ช่วยส่วนบุคคลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนโดยไม่ต้องคอยเฝ้าหน้าจอตลอดเวลา จากสถิติของ Satis Group เปิดเผยว่าการระดมทุน ICO ทั่วโลกในปีที่ผ่านมา มี ICO ที่ประสบความสำเร็จในการระดมทุนและจดทะเบียนขึ้นตลาดแลกเปลี่ยนเพียงแค่ 8% เท่านั้น ที่ระดมทุนสำเร็จ แต่ไม่ได้จดทะเบียนขึ้นตลาดแลกเปลี่ยน 5% ระดมทุนไม่สำเร็จ 6% ส่วนที่เหลือ 81% คือ ICO แบบหลอกลวง หรือ Scam แถม 8% ที่ระดมทุนสำเร็จ มีเหลือรอดมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จริง ๆ ได้ประสบความสำเร็จแค่ 3.8% เท่านั้นเอง ตัวเลขนี้น่ากลัวไม่ต่างจากการลงทุนในหุ้นปั่น เพราะสุดท้าย ICO ที่เป็น Scam จะทำให้เงินลงทุนของคุณเหลือศูนย์ ส่วน ICO ที่ระดมทุนสำเร็จ แต่ไม่ได้ขึั้นทะเบียนขึ้นตลาด ทำให้นักลงทุนมีความเสี่ยงที่จะเสียหาย เพราะไม่มีสภาพคล่องมากพอที่จะปล่อยเหรียญที่ถือครองอยู่ออกมาได้ ต้องลงทุนแบบระยะยาวหวังผลตอบแทนจากโมเดลของเหรียญเท่านั้น
“ถามว่ามันคือตลาดฟองสบู่ของ ICO มั้ย ผมขออนุญาตไม่เรียกว่า ฟองสบู่ เพราะมันโหดกว่านั้นอีก มันเหมือนตลาดลวงโลกที่ส่วนใหญ่แทบไม่มีพื้นฐานเลย เพราะมากกว่า 4 ใน 5 คือ การหลอกลวง สำหรับผู้สนใจลงทุน ผมแนะนำให้ศึกษา whitepaper ให้ดี และคัดเลือก ICO ที่มีคุณภาพจริง ๆ หาเพื่อนที่เป็น technologist ซักคนมาช่วยดูรายละเอียดทางเทคนิค และทำความเข้าใจกับมันดี ๆ ว่า ICO นี้ขายฝัน หรือยืนอยู่บนความเป็นจริง”
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของความแตกต่างระหว่างการลงทุน IPO ในตลาดหลักทรัพย์ และการลงทุนในรูปแบบ ICO ของผู้ออกเหรียญคอยน์ ซึ่งนักลงทุนควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกก่อนที่จะพิจารณาลงทุน ได้แก่
1. บริษัท startup สามารถมีช่องทางในการระดมทุนได้เงินง่ายขึ้น ไม่มีการตรวจสอบจากหน่วยงานภาครัฐ หรือ ก.ล.ต. สามารถออกเหรียญได้อย่างเสรี (เพราะนักลงทุนทั่วไปนั้นเกณฑ์การคัดเลือกต่ำกว่าหากเทียบกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์) ทำให้มีโอกาสที่จะได้เงินมากขึ้น เพราะถึงแม้คนทั่วไปอาจจะลงเงินน้อยกว่า แต่จำนวนนักลงทุนนั้นมากกว่าหลายเท่า
2. ช่องทางการได้เงินสามารถรับเงินจากตรงไหนก็ได้ทั่วทิศทุกมุมโลกอย่างไร้ข้อจำกัด โดยไม่จำกัดวันเวลา สถานที่ และไม่ต้องมีเอกสารทางกฎหมายมากมายมาเป็นข้อจำกัด หรือหลักเกณฑ์ผูกมัดควบคุม
3.การรับหรือเบิกถอนเงินได้สะดวกขึ้นด้วย Smart Contract ผ่านทางตลาดกลางซื้อขายแลกเปลี่ยนเหรียญคอยน์ ซึ่งกำหนดรูปแบบการลงทุน และผู้ถือเหรียญได้ โดยไม่ต้องยืนยันและตรวจสอบตัวบุคคลผู้ถือครองเหรียญ
4. นักลงทุนมีสิทธิได้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนที่ปกติ ซึ่งไม่สามารถลงทุนได้ (แรงกว่าหุ้นซิ่ง หรือหุ้นปั่น)
5. ผู้ออก ICO ไม่จำเป็นต้องมีสินทรัพย์ Assets มาค้ำประกันการออกเหรียญ ICO เหมือนบริษัทจดทะเบียนที่ระดมทุน IPO ผ่านตลาดทุน
ข้อดีที่แตกต่างจากการลงทุนในรูปแบบเดิมเหล่านี้ ก็เป็นเหตุทำให้นักลงทุนเห็นโอกาสอันดีที่จะร่วมลงทุนใน ICO มากขึ้น เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่รู้แล้วว่า ICO คือ ช่องทางที่พวกเขาจะสามารถลงทุนในโปรเจกต์ใหม่ในราคาที่ถูกที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ให้ผลตอบแทนระยะสั้นได้ดีกว่าเหรียญที่อยู่ในตลาด และมีมูลค่าสูงอยู่แล้ว
ทิศทางความเสี่ยงกับการแก้ไขปัญหา
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ได้เห็นกันไปแล้วกับสถานการณ์ความเสี่ยงในภาพรวม คือ เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ ความใหม่ รัฐบาล และกฎหมาย ที่ทุกฝ่ายต่างมีความเกี่ยวโยงกันทั้งหมด แต่การที่ทาง ICO เจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และการที่ ก.ล.ต. ยอมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมากขึ้นนั้น ก็นับว่าเป็นข้อดี ที่ทำให้เกิดความหวังในส่วนของการแก้ไขให้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้การลงทุน ICO ดูน่าเชื่อถือและประสบความสำเร็จ หากทุกอย่างถูกต้องโดยสมบูรณ์แล้ว ในอนาคต ก็อาจจะไม่มีการใช้เงินแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่จะได้รับการแทนที่ด้วยการใช้สกุลเงินดิจิทัลแทน