xs
xsm
sm
md
lg

กรังด์ปรีซ์ฯ ยิ้มร่า ยอดจองรถครึ่งทางมอเตอร์โชว์แตะ 1.1 หมื่นล้าน คาดรายได้ตามเป้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กรังด์ปรีซ์” เผยตัวเลขยอดจองรถยนต์หลังผ่านครึ่งทางการจัดงาน “บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 39” ทะลักกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ยอดรวมกว่า 10,940 คัน คาดโตตามเป้าเทียบจากปีก่อนหน้า 18.3 % โบรกฯ ชี้ยังเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของรายได้ เพราะพึ่งพิงรายได้หลักจากงาน Motor Show เพียงอย่างเดียว และราคาหุ้นยังต่ำกว่า IPO เน้นลงทุนระยะยาวจากอัตราปันผลอย่างน้อยที่ระดับ 5-6%

บมจ. กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ GPI เผยภาพรวมยอดจองรถยนต์ในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 39 จนถึงวันที่ 1 เมษายน 2561 มียอดการเติบโตเพิ่มขึ้น 18.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดตัวสินค้าใหม่ภายในงาน ผู้บริโภคเลือกตัดสินใจซื้อรถใหม่ในช่วงงานมอเตอร์โชว์ฯ โดยเฉพาะกับตลาดรถหรูที่ส่อแววสดใส ผู้ประกอบการต่างพอใจกับยอดจองที่เข้ามาในแต่ละวัน ที่สำคัญ ในกลุ่มของรถยนต์ลักชัวรี และรถสปอร์ต ที่เพิ่มทางเลือกในด้านเทคโนโลยีรุ่นใหม่เข้ามาได้กระแสตอบรับจากผู้บริโภคที่สนใจเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ จากการรวบรวมตัวเลขยอดจองที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. ถึงวันที่ 1 เม.ย. 2561 พบว่า มียอดจองรถยนต์ภายในงานรวมอยู่ที่ 10,940 คัน ยกตัวอย่างเช่น TOYOTA 1,911 คัน HONDA 1,702 คัน ISUZU 1,572 คัน MAZDA 1,531 คัน และ FORD 751 คัน (ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมยอดจองในกลุ่มรถยุโรป และมอเตอร์ไซค์ ที่จะส่งรายงานยอดขายในช่วงท้ายงานอีกครั้ง) ส่วนกลุ่มรถยุโรป ในปีนี้ยังมีกระแสตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค เพราะนอกจากจะมีรถยนต์รุ่นใหม่เข้ามาเปิดตัวภายในงานแล้ว ยังมีผู้เล่นรายใหม่ ๆ เข้ามาร่วมแสดงรถยนต์ภายในงานเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย สะท้อนภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปีนี้เติบโตตามเป้า รวมถึงสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นส่งผลให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อรถได้ง่ายขึ้น อีกหนึ่งปัจจัยที่มีส่วนช่วยส่งเสริมคือแคมเปญและโปรโมชันที่คุ้มค่า รวมถึงสถาบันการเงินที่เข้ามาสนับสนุนในด้านดอกเบี้ย และการผ่อนชำระ คงต้องจับตากันต่อไปว่า ตลอดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 39 จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน แต่จากตัวเลขที่ปรากฏเชื่อว่า ปีนี้ยอดจองตลอด 12 วัน จะเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดไว้

ขณะที่ บล. ทิสโก้ ประเมินภาพรวมธุรกิจของ GPI ในปีนี้ว่า มองการเติบโตในปี 2561 หลัก ๆ มาจากการปรับค่าเช่าขึ้น 7% เทียบจากช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ขณะที่ในส่วนของพื้นที่แสดงสินค้ารถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ในงาน Bangkok International Motor Show (วันที่ 28 มี.ค.-8 เม.ย. นี้) ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยที่ต้นทุนการบริหารจัดการงานคงที่ ส่วนธุรกิจสื่อและรับจ้างพิมพ์มีแนวโน้มหดตัวลงจากการหดตัวของอุตสาหกรรม และปราศจากงานพิเศษราว 20 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของ GPI ยังมีความเสี่ยงอยู่เนื่องจากยังพึ่งพารายได้จากงาน Motor show มากเกินไป โดยพิจารณาจากการที่ GPI มีรายได้ประจำจากงาน Bangkok International Motor Show กว่า 60% ของรายได้รวม ซึ่งงาน Bangkok International Motor Show จัดขึ้นเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ขณะที่รายได้ส่วนอื่น ๆ ยังมีความเปราะบาง เนื่องจากธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์มีการแข่งขันสูงและอุตสาหกรรมหดตัว ส่วนธุรกิจกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างงาน Air Race 1 (รายได้เฉลี่ย 90-100 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 4/2560 ยังมีความไม่แน่นอน แม้ในปี 2561 จะมีแหล่งรายได้เพิ่มขึ้นจากแผนการจัดงาน Yangon International Motor Show ที่นครย่างกุ้ง ประเทศพม่า ในเดือน ก.ค. นี้ และในไตรมาส 4/2561 รวม 2 ครั้ง แต่กระนั้น ก็ยังมองว่าไม่ส่งผลบวกต่อผลประกอบการอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 1-3 ปีนี้ เนื่องจากมีพื้นที่ให้เช่าเพียง 6,000 ตารางเมตร (เทียบกับ 60,000 ตารางเมตรในไทย) และราคาค่าเช่าที่ต่ำกว่ามาก

ทั้งนี้ บล. ทิสโก้ ยังมองว่า GPI เป็นหุ้นราคาถูก และมีปันผลที่ดี โดยพิจารณาจากปัจจุบัน ราคาเป้าหมายที่ Bloomberg Consensus ประเมินไว้เฉลี่ยอยู่ที่ 4.53 บาท โดยมีคำแนะนำ ซื้อ/ถือ/ขาย จำนวน 3/0/0 เรามองปัจจัยในการเติบโตยังไม่ชัดเจน และมีความเสี่ยงของการกระจุกตัวของฐานรายได้สูง

นอกจากนี้ ราคาหุ้นปัจจุบันที่ต่ำกว่าราคา IPO ที่ 3.50 บาท กอปรกับเงินสดสุทธิที่สูงกว่า 700 ล้านบาท (คิดเป็นราว 1.2 บาทต่อหุ้น) ทำให้ราคาปัจจุบันซื้อขายที่กัน Cash Adjusted PE เพียง 7-8 เท่า จึงมองความน่าสนใจในแง่ของการเป็นหุ้นที่จะจ่ายเงินปันผลอย่างน้อยระดับ 5-6% ต่อปีได้สม่ำเสมอ (อิง Payout Ratio 50%)


กำลังโหลดความคิดเห็น