xs
xsm
sm
md
lg

กคช. ตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยฯช่วยผู้มีรายได้น้อยให้มีบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.ธัชพล กาญจนกูล
กคช. เร่งผลักดันจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยฯ ตามที่คณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติให้ความเห็นชอบ มุ่งเน้นการให้สินเชื่อรายย่อยเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย (Post-Finance) และการค้ำประกันสินเชื่อ (Mortgage Insurance) ด้วยวงเงินตั้งต้น 5,207 ล้านบาท ช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ 17,076 ราย

ดร. ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของต้นเอง นับว่าเป็นอีกหนึ่งภาระกิจของการเคหะฯ ที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข สำหรับปัญหาดังกล่าว กคช. ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาผู้มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย เนื่องจากสถาบันการเงินที่ให้บริการสินเชื่อสำหรับผู้มีรายได้น้อยมีจำนวนน้อยราย ประกอบกับคุณสมบัติของผู้มีรายได้น้อยไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงิน เนื่องจากไม่มีรายได้ประจำ และหลักฐานการเงินเพียงพอ และการขาดศักยภาพในการชำระเงินคืนแหล่งเงินกู้ในระยะยาวได้

ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในปัจจุบันนี้มีจำนวน 30-40% ที่ยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อ (ข้อมูลจากการดำเนินงานของการเคหะแห่งชาติ) ทำให้พลาดโอกาสในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย การเคหะแห่งชาติจึงดำเนินโครงการศึกษาการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย (Housing Development Fund for the Low-Income)” ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) เพื่อเป็นแหล่งสินเชื่อรายย่อยเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย และค้ำประกันสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งเป็นกลไกในการสร้างวินัยทางการเงินให้กับผู้มีรายได้น้อยอย่างสม่ำเสมอก่อนที่จะส่งต่อให้กับสถาบันการเงิน ซึ่งการเคหะแห่งชาติ ได้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2561 หลังจากนั้น จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาอนุมัติต่อไป

สำหรับการดำเนินงานกองทุนฯ มี 2 กรณี คือ กรณีแรก การให้สินเชื่อรายย่อยเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย (Post-Finance) และกรณีที่สอง การค้ำประกันสินเชื่อ (Mortgage Insurance) ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้เข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินในระบบ โดยมีสัดส่วนการดำเนินงานทั้งสองกรณีเป็นร้อยละ 90:10 ตามลำดับ ซึ่งได้กำหนดกรอบวงเงินตั้งต้น (Seed money) ไว้ที่ประมาณ 5,207 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับกลุ่มเป้าหมายประมาณ 17,076 ราย ซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์การให้สินเชื่อ ประกอบด้วย ผู้กู้นั้นเข้าร่วมโครงการเช่าซื้อ หรือผู้ที่ได้มีการผ่อนชำระเงินดาวน์ที่อยู่อาศัยกับการเคหะแห่งชาติครบตามกำหนดแล้ว รวมถึงผู้กู้ที่เข้าร่วมโครงการเช่าเพื่อซื้อ และผู้กู้ที่เข้าร่วมโครงการออมก่อนกู้กับการเคหะแห่งชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น