xs
xsm
sm
md
lg

(รับชมคลิป) ย้อนรอย 5 ปี “บิ๊ก BEAUTY” ขายบิ๊กล็อตรับเละ 7.5 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ย้อนรอย 5 ปี “กลุ่ม ไกรภูเบศ” ผู้ถือหุ้นใหญ่ BEAUTY นับตั้งแต่เข้าระดมทุนตลาดหุ้น ทยอยขายบิ๊กล็อตแล้วเฉียด 7.5 พันล้านบาท จากสัดส่วนถือหุ้นกว่า 70.83% เหลือ 21.23% เพื่อเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ และ Free Float โดยยังต้องลุ้นต่ออนาคตสัดส่วนถือครองจะลดลงอีกหรือไม่?



จากวันแรกที่ บมจ. บิวตี้ คอมมูนิตี้ (BEAUTY) เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ช่วงไตรมาส 3/2555 มาจนถึงปัจจุบัน บริษัทแห่งนี้เดินทางมาไกลจริงๆ แต่เป็นระยะทางที่ไกลในรูปแบบเติบโตต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง ด้วยมูลค่ามาร์เกตแคปที่สูงเฉียด 6 หมื่นล้านบาท จากปี 2557 ที่เคยอยู่ในระดับ 1 หมื่นล้านบาทผ่านการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดและเครื่องมือทางการเงินของตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การขายหุ้นเพิ่มทุน 1.76 ล้านหุ้น ในปีก่อน และการแตกพาร์จาก1.00บาท เป็น 0.10 บาทในปี 2558 ช่วยผลักดันให้รายได้รวมขยับผ่านระดับ 1.38 พันล้านบาท แตะ3.73 พันล้านบาทในปัจจุบัน เช่นเดียวกับกำไรสุทธิในปีล่าสุดที่ระดับ 1.22 พันล้านบาท จาก 300 ล้านบาทในปี2557
 
อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่น่ากังวลสำหรับบริษัทที่อยู่ใน MSCI Global Small Cap.อย่าง BEAUTY เช่นกันนั่นคือการลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างมีนัยสำคัญของกลุ่ม "ไกรภูเบศ"ที่ปลุกปั้นแบรนด์ดังกล่าวมาตั้งแต่เริ่มต้น
 
 
เพราะจากรายงานล่าสุดพบว่า นายแพทย์สุวิน ไกรภูเบศ และนางธัญญาภรณ์ ไกรภูเบศ ในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ขายหุ้น BEAUTY เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2561 รวม 140 ล้านหุ้น คิดเป็น 4.66% ของทุนจดทะเบียน ให้แก่นักลงทุนสถาบันในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงนักลงทุนบุคคลรายใหญ่ ในราคา 18.80 บาท/หุ้น รวมมูลค่า 2.63 พันล้านบาท จนทำให้เหลือสัดส่วนการถือหุ้นใน BEAUTY ที่ระดับ 21.23% ของทุนจดทะเบียน จากเดิมที่มีอยู่ 25.89%
 
โดยที่ผ่านมา เมื่อมีการปรับลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ ผู้บริหารของ BEAUTY จะยืนยันเสมอถึงการคงสัดส่วนในการถือหุ้นใหญ่ของบริษัทที่เหลืออยู่ ยกตัวอย่างเช่น ครั้งล่าสุด 13 มี.ค.2561 นายแพทย์สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BEAUTY ให้เหตุผลว่า ภายหลังการขายหุ้นบิ๊กล็อตทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของครอบครัวเหลืออยู่ราว 22% ซึ่งนับเป็นระดับที่เหมาะสม และยังไม่มีแผนจะขายหุ้นออกเพิ่มเติม พร้อมยืนยันว่ากลุ่มครอบครัวของตนจะถือหุ้น BEAUTY ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 20% ของทุนจดทะเบียน เพื่อที่จะยังคงรักษาการเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ (Major Shareholder) ซึ่งจะสามารถกำหนดทิศทางและแผนนโยบายต่าง ๆ ของบริษัทได้เช่นเดิม
 
เช่นเดียวกับ เหตุผลในการปล่อยขายหุ้นให้กับนักลงทุนสถาบันในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงนักลงทุนบุคคลรายใหญ่นั้น เนื่องจากมองถึงสภาพคล่อง(Free Float)ที่มากเพียงพอในระดับ 80% และหุ้นของบริษัทสามารถเข้าไปอยู่ใน SET50 ได้ อีกทั้งประกอบกับผลการดำเนินงานในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นความเชื่อมั่นจากนักลงทุนสถาบันเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งและศักยภาพของบริษัทฯ
 
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของ BEAUTY ปล่อยขายหุ้นที่ถืออยู่ในมือออกมา ก่อนหน้านั้น ช่วงพ.ย.2559 นายแพทย์สุวิน และนางธัญญาภรณ์ ได้ขายหุ้นของบริษัทรวมกัน 300 ล้านหุ้น คิดเป็น 10% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วให้แก่ผู้ลงทุนในประเทศและต่างประเทศ ในราคาหุ้นละ 11 บาท คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.3 พันล้านบาท โดยหลังการขายหุ้นสัดส่วนการถือหุ้นรวม 25.94%
 
ไม่เพียงเท่านี้ ช่วงเม.ย.2558 มีรายงานการซื้อขายหลักทรัพย์รายใหญ่ (Big Lot) ของBEAUTY จำนวน 2 รายการ รวม 9.35 ล้านหุ้น มูลค่ารวมกว่า 390 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 41.75 บาท คิดเป็น 3.12% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และก่อนหน้านี้ ก.พ.2558 นายแพทย์สุวินได้ขายหุ้น Big Lot จำนวน 15.25 ล้านหุ้น ในราคา 34.50 บาท/หุ้นให้แก่กองทุน Capital World Investors และ Driehaus นักลงทุนสถาบันจากสหรัฐฯ รวมเป็นเงิน 526.12 ล้านบาท
 
นอกจากนี้ในช่วง มิ.ย. 2557 กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ BEAUTY ได้ขายหุ้น Big Lot จำนวน 30 ล้านหุ้นหรือคิดเป็นร้อยละ 10.00 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ในราคาหุ้นละ 18.50 บาท/หุ้น ให้แก่ Franklin Templeton Investments มูลค่า 555 ล้านบาท
 
เรียกได้ว่านับตั้งแต่ระดมทุนเข้าตลาดหุ้นในปี 2555 เพื่อให้บริษัทมีศักยภาพและเติบโตอย่างโดดเด่นนั้น ผู้ถือหุ้นใหญ่จำต้องแลกมาด้วยการลดสัดส่วนการถือครองอย่างต่อเนื่องจาก 70.83% ในครั้งเข้าระดมทุนตลาดหุ้นใหม่ๆ เหลือเพียง 21.23% ในปัจจุบัน และอาจได้เห็นการลดสัดส่วนถือครองเพิ่มเติมอีกในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น