ซีไอเอ็มบีไทย ตั้ง 3 สมมติฐานการเมือง ชี้หากมีการเลือกตั้ง พ.ย. ปี 61 ตั้งรัฐบาลประชาธิไตยจะหนุนเศรษฐกิจไทยโตสูงถึงร้อยละ 4.5 พร้อมคาดปี 62 จะเป็นปีทองของเศรษฐกิจไทย ปชช. เริ่มกลับมาใช้จ่าย-ลงทุนหลังได้รัฐบาลใหม่
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2561 จะเร่งตัวขึ้นจากปีนี้ โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4 จากปีนี้ที่ขยายตัวโตร้อยละ 3.9 ปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 จากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ และการท่องเที่ยวยังขยายดี คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทย 37.5 ล้านคน ส่วนการนำเข้าจะขยายตัวมากขึ้นที่ร้อยละ 6 ตามการผลิตที่ฟื้นตัว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนน่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องขยายตัวร้อยละ 3.8 หลังจากอ่อนแอมาหลายปี ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดขยายตัวร้อยละ 9.8 หากการส่งออกฟื้นตัวต่อเนื่องได้ 2 ไตรมาสจะเริ่มเห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้น การบริโภคจะกลับมาขยายตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนโตร้อยละ 3.5
นายอมรเทพ กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกตั้งปีหน้าที่สำคัญ คือ สถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งจะมีผลต่อความมั่นใจของนักลงทุน และผู้บริโภค โดยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย มีสมมติฐานการเมืองเป็น 3 สถานการณ์ คือ สถานการณ์ที่ 1 เลื่อนการเลือกตั้ง ด้วยปัจจัยติดขัดในกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญ การตกลงเจรจาไม่ได้ข้อสรุป ทำให้แผนการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2561 ต้องเลื่อนออกไป อาจส่งผลให้นักลงทุนชะลอการลงทุน ชะลอการบริโภค หากมีการเลื่อนการเลือกตั้งอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2561 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.5-3.8 สถานการณ์ที่ 2 มีการเลือกตั้ง ภายใต้สมมติฐานว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองให้สานต่อการบริหาร เพื่อรักษาความต่อเนื่องของนโยบายประมาณการจีดีพี จะอยู่ที่ร้อยละ 3.7-4
ส่วนสถานการณ์ที่ 3 มีการเลือกตั้งภายใต้สมมติฐาน คสช. เปลี่ยนผ่านรูปแบบการกำกับดูแลการดำเนินงานของรัฐบาลมาที่วุฒิสภา โดยให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรี พรรคการเมืองทั้ง 2 พรรค คือ เพื่อไทย กับประชาธิปัตย์ อาจเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้การเมืองไทยมีรัฐบาลประชาธิปไตย คาดว่าจะทำให้ความมั่นใจ และความนิยมจากต่างชาติดีขึ้นประมาณการจีดีพี จะเติบโตได้ถึงร้อยละ 3.9-4.5
“ปีทองของไทยจริง ๆ ไม่ใช่ปีหน้า ทางธนาคารมองว่า ปีทองทางเศรษฐกิจของไทย คือ ปี 2562 เพราะหลังการเลือกตั้ง คนจะกลับมาลงทุน และการบริโภค รัฐบาลชุดถัดไปของ คสช. นับว่าเป็นรัฐบาลที่โชคดี เพราะสิ่งที่ คสช. ได้ทำและเดินหน้ามาแล้ว จะเริ่มเห็นผลและขับเคลื่อนได้ในปี 2562” นายอมรเทพ กล่าว
ด้านแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายปี 2561 คาดว่าจะคงที่ร้อยละ 1.50 ตลอดปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังต่ำอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ส่วนการเคลื่อนไหวของเงินบาท คาดว่าจะยังอ่อนค่าประมาณ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากแนวโน้มเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังแข็งค่า หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 3 ครั้งในปี 2561