xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยจะมีรายได้ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีก 20 ปีข้างหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน(แฟ้มภาพ)
รัฐบาลตั้งเป้ายกระดับรายได้คนไทยจาก 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นมากกว่า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีก 20 ปีข้างหน้า พร้อมขยับอันดับความสามารถการแข่งขันติด 1 ใน 20 อันดับแรก เชื่อจะเห็นก่อน 20 ปีได้

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน กล่าวว่า การจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน กำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี หรือปี 2580 ไว้ 4 เป้าหมาย คือ ไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีรายได้มากกว่า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี จากปัจุบัน 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี ซึ่งเดือนกรกฎาคมปีนี้ ธนาคารโลกกำหนดว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว คือ ประเทศที่มีรายได้มากกว่า 12,235 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี ดังนั้น การที่ไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ระดับรายได้จะต้องเพิ่มขึ้น จึงตั้งเป้ารายได้คนไทยจะต้องเพิ่มขึ้นมากกว่า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี หากดำเนินการได้ดีก็จะถึงเป้าหมายก่อน 20 ปี

เป้าหมายที่ 2 ไทยจะต้องมีอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะต้องขยายตัวไม่ต่ำกวาร้อยละ 5 ในช่วง 20 ปีข้างหน้า ซึ่งปัจจุบัน จีดีพีขยายตัวร้อยละ 3.8-4.0 แม้บางช่วงจีดีพีต่ำกว่านี้ไปบ้าง แต่ระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา เริ่มขยายตัวเพิ่มขึ้นมากเรื่อย ๆ ซึ่งปีนี้ คาดว่าจีดีพีจะอยู่ในระดับร้อยละ 3.8-4.0 และตามแผนจะผลักดันให้จีดีพีประเทศเติบโตแต่ละปีร้อยละ 5 เพื่อจะได้เป็นกลไกสำคัญในการเป็นประเทศมีรายได้สูง

เป้าหมายที่ 3 ผลิตภาพการผลิตรวม หรือ TFP กำหนดเป้าหมายว่าจะต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทายมาก แต่จำเป็น เพราะหากขาดเป้าหมายนี้ จีดีพีประเทศจะขยายตัวร้อยละ 5 จะท้าทายมาก และแม้มองในอนาคตที่ประเทศไทยจะมีประชากรวัยแรงงานลดน้อยลง เพราะก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น แต่ด้วยการมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเติบโตมากขึ้น จะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยส่งเสริมให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวตามคาด คือ จีดีพีขยายตัวแต่ละปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องปรับปรุงประสิทธิภาพแรงงาน พร้อมเร่งการลงทุนให้เติบโตขึ้น เรื่องของทุนประกอบกันไปด้วย

สำหรับเป้าหมายที่ 4 คือ ไทยต้องได้รับการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ IMD จะต้องอยู่ในอันดับ 1 ใน 20 เพราะการจะอยู่อันดับ 1 ใน 10 เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะประเทศที่ได้รับการจัดอันดับดังกล่าวปัจจุบันเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่ไทยได้รับการจัดอันดับไว้ที่ 25-30 โดยไทยมีจุดอ่อนด้านประสิทธิภาพการผลิต โครงสร้างพื้นฐานทั่วไป โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และด้านการศึกษา ปี 2560 ไทยอยู่ในอันดับที่ 27 จาก 63 ประเทศ ปรับตัวดีขึ้นจากปีที่แล้ว 1 อันดับและมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นมาตั้งแต่ปี 2554

นายสถิตย์ กล่าวว่า หลังจากนี้คณะกรรมการฯ จะวางยุทธศาสตร์ด้านเกษตร ด้านอุตสาหกรรม บริการและโครงสร้างพื้นฐานกายภาพ ดิจิทัล การเงิน และศักยภาพมนุษย์ เป็นต้น จากนั้น นำเสนอร่างยุทธศาสตร์ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาภายใน 120 วัน ซึ่งครบกำหนดวันที่ 24 มกราคม 2561 แต่เชื่อว่าจะจัดทำร่างยุทธศาสตร์เสร็จก่อน

นายสถิตย์ กล่าวในตอนท้ายว่า ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ได้แก่ (1) เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) www.nesdb.go.th (2) โทรสาร หมายเลข 0 2282 9149 (3) เฟซบุ๊ก “ยุทธศาสตร์ชาติ 20” และ (4) จดหมาย โดยส่งมาที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพฯ 10100 วงเล็บมุมซองว่า “คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้าน..........”
กำลังโหลดความคิดเห็น