xs
xsm
sm
md
lg

สิ้นเดือน ก.ย. รัฐบาลมีหนี้คงค้างเพิ่ม 9.4 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“คลัง” เผยยอดรวมหนี้สาธารณะคงค้าง สิ้นเดือน ก.ย. 60 มีทั้งสิ้น 6.39 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.29% ของ GDP โดยเป็นหนี้ในประเทศ 6 ล้านล้าน และอีก 3 แสนล้าน เป็นหนี้ต่างประเทศ

นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ ได้รายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 กันยายน 2560 มีจำนวน 6,369,331.31 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.29 ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 94,480.81 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560 จะแบ่งออกเป็นหนี้ในประเทศ 6,067,790.68 ล้านบาท หรือ 95.27% และหนี้ต่างประเทศ 301,540.63 ล้านบาท (ประมาณ 9,027 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) หรือ 4.73% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และหนี้สาธารณะคงค้าง แบ่งตามอายุคงเหลือ โดยแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาว 5,612,039.62 ล้านบาท หรือ 88.11% และหนี้ระยะสั้น 757,291.69 ล้านบาท หรือ 11.89% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด

ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงรายละเอียดหนี้สินภาครัฐ ซึ่งจะมีหนี้ของรัฐบาลหนี้รัฐบาล จำนวน 4,959,164.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 97,923.22 ล้านบาท โดยรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ๆ ของหนี้รัฐบาล เช่น การกู้เงินตามแผนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 และพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2560 รวมถึงการกู้เพื่อการบริหารหนี้สาธารณะ เพิ่มขึ้น 99,889.65 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินกู้ระยะสั้นที่เพิ่มขึ้น 15,000 ล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของตั๋วเงินคลัง และเงินกู้ระยะยาว เพิ่มขึ้น 84,889.65 ล้านบาท เนื่องจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 90,240.34 ล้านบาท เพื่อนำไปลงทุนในการพัฒนาประเทศ สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็ง และส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมศักยภาพ รวมถึงการไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงิน 5,350.69 ล้านบาท

ขณะที่หนี้รัฐวิสาหกิจนั้นจะมีจำนวนทั้งสิ้น 970,216.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 3,619.55 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน เพิ่มขึ้น 3,508.60 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากหนี้ที่เพิ่มขึ้นของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และการรถไฟแห่งประเทศไทย และ หนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 110.95 ล้านบาท จากรายการที่สำคัญเกิดจากหนี้ที่เพิ่มขึ้นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้านครหลวง

นอกจากนี้ ยังมีหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน ซึ่งรัฐบาลค้ำประกัน 426,321.04 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 6,048.01 ล้านบาท ทั้งนี้ เกิดจากการชำระคืนต้นเงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเป็นสำคัญ ส่วนหนี้หน่วยงานของรัฐนั้น จะมีทั้งสิ้น 13,629.55 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 1,013.95 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากการชำระคืนต้นเงินกู้ของสำนักงานกองทุนอ้อย และน้ำตาลทราย
กำลังโหลดความคิดเห็น