ผู้จัดการรายวัน 360 องศา - สากล เอนเนอยี เผยเป้ารายได้งวดบัญชีปี 2560 หลังเข้าซื้อขายหุ้น IPO คาดใกล้เคียงปีก่อนหน้า ตั้งเป้านำเงินระดมทุนไปใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพระบบสูบอัดก๊าซ เป็นเงินทุนหมุนเวียน และล้างหนี้สถาบัน 150 ล้านบาท เชื่อจะสามารถกดหนี้สินต่อทุนต่ำลงกว่า 0.5 เท่า แย้มแผนอนาคตกระจายการลงทุนไปยังธุรกิจอื่นเพิ่ม
นายจักรพงส์ สุเมธโชติเมธา ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สากล เอนเนอยี หรือ SK กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้และกำไรหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คาดว่าจะเติบโตใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า โดยพิจารณาจากกำไรสุทธิของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ในปี 2559 อยู่ที่ 127.64 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา กำไรขั้นต้นของบริษัทเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 30% ขณะที่่รายได้เฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 18%
“โดยพื้นฐานรายได้หลักของบริษัทจะมาจากงานบริการด้านพลังงาน ซึ่งมีอัตราการเติบโตที่สม่ำเสมอในทุก ๆ ปี อย่างไรก็ดี ปริมาณความต้องการของเชื้อเพลิง NGV ในภาคอุตสาหกรรม และภาพรวมเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันรายได้ของบริษัท นอกจากนี้ยังรวมไปถึงแผนธุรกิจของบริษัทคู่ค้า คือ บมจ. ปตท. หรือ PTT ด้วยเช่นกัน”
ขณะที่ในส่วนของเป้าหมายระดมทุนในการเข้าจดทะเบียนในครั้งนี้ บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ในการขยายธุรกิจ โดยแบ่งเป็น 2 โครงการหลัก คือ 1. ใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพระบบสูบอัดก๊าซ และเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อรองรับความต้องการของตลาดในอนาคต รวมไปถึงการลดต้นทุนในกระบวนการผลิต เพื่อให้สะท้อนออกมาในรูปของกำไรที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยในโครงการนี้จะมีโครงการแยกย่อยออกไปอีกอย่างน้อย 3-4 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 100 ล้านบาทต่อโครงการ และ 2. ใช้ชำระหนี้สถาบันฯ อีกทั้งเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตบริษัทวางแผนที่จะเปิดให้บริการสถานีบริการเชื้อเพลิง NGV กับลูกค้าประชาชนทั่วไป ตามแนวท่อส่งก๊าซทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3222 เส้นทางแก่งคอย-บางนา ซึ่งรองรับความต้องการของประชาชนผู้ใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนอีกไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท
ขณะที่หนี้สินต่อทุน D/E ของบริษัทในปัจจุบันอยู่ที่ 0.5 เท่า ซึ่งคาดว่าหลังจากเข้าจดทะเบียนซื้อขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไป หรือ IPO แล้ว จะทำให้หนี้สินต่อทุนที่มีอยู่ปรับลดลงอยู่ในระดับต่ำกว่า 0.5 เท่า จากหนี้สถาบันการเงินในปัจจุบันที่ 100-150 ล้านบาท
“ในอุตสาหกรรมการบรรจุก๊าซ เราไม่มีคู่แข่งขันโดยตรง เนื่องจากบริษัทผู้ประกอบธุรกิจประเภทเดียวกันต่างทำสัญญาร่วมกันกับ บมจ. ปตท. ทั้งสิ้น แต่จุดเด่นของบริษัท คือ มุ่งเน้นในการให้บริการสถานีก๊าซธรรมชาติหลัก คือ สถานีก๊าซธรรมชาติหลักปทุมธานี และสถานีถานีก๊าซธรรมชาติหลักสระบุรี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”
นอกเหนือจากนี้ บริษัทยังได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าไปลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือจากที่ทำอยู่ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการลงทุนวิจัยด้านธุรกิจพลังงานสะอาด นอกเหนือจากก๊าซธรรมชาติ NGV ซึ่งอยู่ในโครงสร้างแผนธุรกิจของบริษัทฯ ที่จะทำในอนาคตอีกด้วย
ด้านแผนการลงทุนในต่างประเทศนั้น บริษัทฯ ได้มีการศึกษา และบันทึกข้อตกลงกับบริษัทฯ พันธมิตร ซึ่งประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น แต่เนื่องจากติดปัญหาบางอย่าง จึงทำให้ต้องยกเลิกไป แต่กระนั้น หากประเมินว่าทิศทางความต้องการพลังงานในอนาคตมีความเหมาะสม ให้อัตราผลตอบแทนที่ดี และสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ตามเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด บริษัทฯ ก็พร้อมที่่จะเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานเท่านั้น
“อนาคต นอกเหนือจากการเซ็นสัญญาคู่ค้ากับ บมจ. ปตท. แล้ว อาจจะมีการรับงานเพิ่มจากพันธมิตรอื่นเข้ามา แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องรอความชัดเจนจากภาพรวมเศรษฐกิจ และแนวโน้มการลงทุน ตลอดจนถึงความต้องการพลังงานในตลาด และภาคอุตสาหกรรม”
ทั้งนี้ ในส่วนของอุตสาหกรรมก๊าซ NGV ในประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้มีปริมาณความต้องการใช้จำนวนมากกว่า 9,000 ตันต่อวัน เนื่องจากกรณีปัญหาราคาน้ำมันที่มีราคาสูง ในช่วงระหว่างปี 2552, 2553, 2555 โดยความต้องการใช้นอกเหนือจากในอุตสาหกรรมขนส่งแล้ว ยังมีการใช้ในเชิงพาณิชย์ ในรถยนต์นั่งส่วนบุคคลด้วย เพราะมีราคาถูกกว่าทั้งน้ำมันเบนซิน และดีเซล ตลอดจนถึงก๊าซ LPG อีกด้วย แต่ภายหลังจากที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ปริมาณความต้องการใช้งานก๊าซ LPG ก็ปรับตัวลดลงตามไปด้วย ทำให้ประชาชนหันกลับไปใช้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมัน โดยปัจจุบันมีปริมาณความต้องการปรับลดลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ 6,000 ตันต่อวัน ซึ่งปริมาณ 3000 ตันต่อวัน ที่หายไปมาจากการใช้งานของรถยนต์ส่วนบุคคลเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ในส่วนของรถยนต์เพื่อการขนส่งเชิงพาณิชย์ ได้แก่ รถบรรทุกขนาดใหญ่, รถขนส่ง 6 ล้อขนาดกลางและเล็ก, รถแท็กซี่, รถตู้โดยสาร ที่มีแนวโน้มคงที่และปรับเพิ่มขึ้นบ้างในรถรุ่นใหม่ที่นำมาใช้เสริมทดแทนรุ่นเก่าที่ปลดระวางเลิกใช้ไป โดยในปัจจุบัน บริษัทฯ มีสัญญาอัดก๊าซให้กับ PTT วันละไม่น้อยกว่า 520 ตัน ซึ่งบริษัทฯ ประเมินว่า แนวโน้มในอนาคต 3-5 ปี ปริมาณความต้องการใช้เชื้อเพลิง NGV จะยังคงมีอยู่ แม้ว่าจะไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่เชื่อมั่นว่าจะไม่ปรับตัวลดลงไปน้อยกว่าปัจจุบัน