xs
xsm
sm
md
lg

แนะภาครัฐปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อสร้างความสมดุลเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


งานวิจัยเศรษฐกิจของธนาคารกสิกรไทย ระบุเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงที่พึ่งพิงภาคต่างประเทศอยู่มาก ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศยังเปราะบาง ทั้งหนี้สินภาคครัวเรือน และการบริโภค เสนอรัฐกำหนดมาตรการกระตุ้นการบริโภค และปรับโครงสร้างภาษี ลดภาระประชาชน เพิ่มกำลังซื้อ

นายกอบสิทธิ์ ศิลปะชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ระบุถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในภาพรวมในปีนี้ว่า ในปี 2560 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประมาณการว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.8 ในส่วนของภาคเอกชนเชื่อว่า ในปี 2561 เศรษฐกิจไทยจะยังเติบโตต่อเนื่อง GDP จะขยายตัวใกล้เคียงร้อยละ 4 อย่างไรก็ตามการเติบโตดังกล่าว พบว่ามาจากการขยายตัวที่พึ่งพิงภาคต่างประเทศ ทั้งในด้านการส่งออก และการท่องเที่ยว สะท้อนให้เห็นความไม่สมดุลของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ภาคการบริโภคในประเทศยังขยายตัวระดับต่ำ ทำให้มีความเสี่ยงหากสถานการณ์โลกมีความผันผวน เช่น เกิดภาวะสงครามที่ทำให้เศรษฐกิจการค้าโลก ชะลอตัว ก็จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไปด้วย

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยความไม่สมดุล เช่น ปัจจุบัน สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 ต่อจีดีพี ถือว่าภาระหนี้ของประเทศไม่สูง แต่เมื่อไปเปรียบเทียบกับภาระหนี้ต่อครัวเรือนของไทย ปัจจุบันสูงถึงร้อยละ 80 ต่อจีพีดี ซึ่งภาระหนี้ต่อครัวเรือนที่สูงนี้ จะกระทบกับกำลังซื้อและบริโภคในประเทศได้ จึงเป็นโจทย์ให้รัฐบาลไปพิจารณา ในระยะสั้น รัฐบาลคงมีมาตรการชอปช่วยชาติออกมา เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ แต่ในระยะยาว อาจต้องใช้การปรับโครงสร้างทางภาษี เพื่อลดภาระของประชาชน นำมาเพิ่มกำลังซื้อ

ส่วนภาวะการลงทุนของประเทศ โดยเฉพาะในปี 2561 ที่ปัจจุบัน เอกชนให้ความสนใจที่จะเข้าลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนพบว่า ไทยจะมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่จะนำมาสู่พื้นที่อุตสาหกรรมเหล่านี้จำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน นอกจากนี้ งานวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ยังระบุด้วยว่า ในด้านการเมืองนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องเดินตามโรดแมปจัดให้มีการเลือกตั้งในปีหน้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น