ผู้ว่าการ ธปท. ยินดีรับฟังข้อเสนอแนะจากคลัง-เอกชน ในการดำเนินนโยบายการเงิน ย้ำชัดต้องเน้นการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น และระยะยาว
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทั้งกระทรวงการคลัง และภาคเอกชน ในการพิจารณานโยบายการเงิน ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการหารือกันกับทุกหน่วยงาน แต่การตัดสินใจนโยบายการเงินเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งจะมีการนำเสนอข้อมูลในทุกด้าน ทุกมิติ ให้ กนง. พิจารณาในการประชุมวันที่ 27 กันยายน 2560 โดย กนง. และ ธปท. จะต้องทบทวนนโยบายการเงินตลอดเวลา เนื่องจากสถานการณ์การเงินโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และต้องมองไปข้างหน้า โดยยืนยัน กนง. จะพิจารณาครบทุกด้านทั้งด้านเสถียรภาพราคา ปริมาณเงินในระบบ ให้เพียงพอ และเอื้อต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ เพราะนโยบายการเงินเปรียบเหมือนเหรียญ 2 ด้าน มีทั้งผู้ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ และต้องคำนึงทั้งผู้ฝากเงิน ผู้กู้เงิน และผู้สูงอายุ นโยบายการเงินต้องมีความระมัดมัดระวังไม่ให้กลายเป็นความเสี่ยง หรือสร้างจุดเปราะบางของประเทศ
นายวิรไท กล่าวว่า ไม่ได้รู้สึกกดดันต่อการประชุม กนง. ในรอบนี้ เพราะที่ผ่านมา กนง. ไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา กนง. ได้ลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง เนื่องจากมองไปข้างหน้า พบว่า เศรษฐกิจในขณะนั้น มีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งในแถลงการณ์ของ กนง. ก็ย้ำมาโดยตลอด พร้อมใช้นโยบายการเงินในการดูแลเศรษฐกิจ
“ปกติเวลาคนมองเรื่องเศรษฐกิจจะมองระยะสั้น แต่ธนาคารกลางต้องมองในระยะยาว เพื่อประโยชน์ของคนในสังคม ซึ่งถือเป็นหน่วยงานกลางหน่วยงานเดียวที่ทำหน้าที่นี้” นายวิรไท กล่าว
ส่วนดัชนีราคาหุ้นไทยที่ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง และทำสถิติสูงสุดนั้น มาจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ประกอบกับนักลงทุนมีความกังวลปัจจัยการเมืองน้อยลง จึงทำให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในประเทศไทย เงินทุนต่างชาติจึงไหลเข้ามาต่อเนื่อง นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับต่ำ ทำให้ประชาชนหันมาหาสินทรัพย์ที่ได้ผลตอบแทนสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เงินทุนที่ไหลเข้าต่อเนื่อง ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า เพราะสาเหตุหลักมาจากการที่ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง จากการส่งออกสินค้าและบริการ และพบว่ามีการเก็งกำไรเกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ ในตลาดพันธบัตร ซึ่งทาง ธปท. ได้กำชับไปยังสถาบันการเงินที่มีความผิดปกติแล้ว และได้ประสานไปยังคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด