กนง.-กนส. จับตา SME-ครัวเรือนความสามารถชำระหนี้ด้อยลง ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีอุปทานคงค้างสูงในบางระดับราคา และบางพื้นที่ แต่ยังไม่พบสัญญาณเก็งกำไรอย่างกว้างขวาง หรือภาวะฟองสบู่ พร้อมเกาะติด search for yield ในสหกรณ์ออมทรัพย์
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.60 เพื่อติดตาม และประเมินเสถียรภาพระบบการเงินของไทยว่า ในปัจจุบัน ระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ สถาบันการเงิน และธุรกิจประกันภัยมีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง ธุรกิจขนาดใหญ่มีฐานะการเงินดี สถานะด้านการเงินต่างประเทศมีความเข้มแข็งสะท้อนจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลต่อเนื่อง หนี้ต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ และเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงทำให้สามารถรองรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ และการเงินต่างประเทศที่อาจจะเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจไทยที่แม้จะมีสัญญาณการขยายตัวที่ชัดเจนขึ้น แต่ความสามารถในการชำระหนี้ของบางภาคธุรกิจ กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และภาคครัวเรือนยังคงด้อยลง ส่วนหนึ่งสะท้อนการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจที่ยังกระจายตัวไม่ทั่วถึง รวมถึงผลจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และความสามารถทางการแข่งขันของ SMEs ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีอุปทานคงค้างสูงในบางระดับราคา และบางพื้นที่ แต่ยังไม่พบสัญญาณเก็งกำไรอย่างกว้างขวาง หรือภาวะฟองสบู่ และเริ่มเห็นการชะลอตัวของการเปิดโครงการใหม่
พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ยังคงมีอยู่ สะท้อนจากการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงของผู้ลงทุนสถาบันเพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่ลูกค้าคาดหวัง รวมถึงการลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะการลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (foreign investment fund) ที่ขยายตัวต่อเนื่อง และมีการกระจุกตัวของการลงทุนในบางประเทศ แม้ว่าการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในเกณฑ์ดี (investment grade) ขณะที่การออกตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bond) และกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย (accredited investor mutual fund) ที่เคยขยายตัวต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ได้ชะลอตัวลงภายหลังการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสารบางราย โดยในส่วนนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลการออกตราสารหนี้เพิ่มเติม โดยเน้นที่กระบวนการขายของตัวกลาง และการให้ข้อมูลความเสี่ยงที่ครบถ้วนแก่นักลงทุน
พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเงินรับฝาก และหุ้นที่ระดมจากสมาชิก รวมถึงการกู้ยืมเงินจากแหล่งทุนภายนอกที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องจะได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ (prudential measures) ไปแล้วส่วนหนึ่ง ที่ประชุมยังเห็นว่า มีความจำเป็นต้องเร่งยกระดับการกำกับดูแลความเสี่ยง และธรรมาภิบาลของสหกรณ์ออมทรัพย์ให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับปรัชญาการดำเนินงานของสหกรณ์
ในระยะต่อไป ระบบการเงินไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงทั้งจากเศรษฐกิจการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ทั่วถึง จึงต้องติดตามความเปราะบางจากความสามารถในการชำระหนี้ของบางภาคธุรกิจ และครัวเรือนที่อาจมีแนวโน้มถดถอยลง รวมถึงการต่ออายุเงินกู้ยืม (roll-over) ของภาคธุรกิจที่ระดมทุนผ่านการกู้ยืม และออกตราสารหนี้ระยะสั้น
ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับ และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ร่วมกันประเมิน และติดตามความความเสี่ยงต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงปรับปรุง และบังคับใช้เกณฑ์การกำกับดูแลให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ