คลัง แจง 33 รัฐวิสาหกิจเจอตอ! จัดซื้อจัดจ้างตาม พ.ร.บ. ใหม่มีปัญหา นำทีมโดย “ปตท.-การบินไทย-อสมท.-กรุงไทย” หวั่นกฎหมายใหม่ทำข้อมูลการค้ารั่วไหล “อภิศักดิ์” สั่งดูแลเร่งด่วน
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐนัดแรก โดยระบุว่า ที่ประชุมได้มีการติดตามผลการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ปี 2560 ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยพบว่ามีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 33 แห่งที่ประสบปัญหาไม่สามารถดำเนินโครงการจัดซื้อจัดจ้างบางกิจกรรมได้ตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างแบบเชิงพาณิชย์ จึงได้ให้กลับไปจัดทำรายละเอียดของแต่ละกิจกรรม และเสนอกลับที่ประชุมในสัปดาห์นี้
“ขณะนี้ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างใหม่ได้เริ่มแล้ว ซึ่งมีบางกิจกรรมที่ติดปัญหาไม่สามารถทำตามได้ แต่ไม่ใช่ติดขัดไปทั้งหมด จึงให้หน่วยงานต้นสังกัดไปจัดทำรายละเอียดมาว่ามีรายละเอียดอย่างไร โดยจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาโดยตรง ซึ่งแนวทางแก้ไขอาจพิจารณายกเว้นบางกิจกรรมไม่จำเป็นต้องเข้าเกณฑ์ตาม พ.ร.บ. ใหม่นี้ และให้ออกระเบียบขึ้นมาสำหรับใช้กำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างรายการที่ติดขัดเป็นการเฉพาะ แต่ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้หลักการ โปร่งใส ตรวจสอบได้”
สำหรับรูปแบบของกิจกรรมที่มีปัญหาเช่นรัฐวิสาหกิจของกระทรวงการต่างประเทศ จะติดปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อมที่แตกต่างของแต่ละท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือรัฐวิสาหกิจในเชิงพาณิชย์ก็ติดปัญหามาก อย่างการจัดซื้อจัดจ้างบางประเภทไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้มาก เพราะทำให้ความลับทางการค้ารั่วไหลจนทำให้คู่แข่งรู้ และแข่งขันทำธุรกิจได้ยาก เช่นการจัดซื้อเชื้อเพลิง ดังนั้น ต้องมีการออกระเบียบเพื่อผ่อนปรนให้ อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่มีการพิจารณาระเบียบต่าง ๆ ก็อนุญาตให้รัฐวิสาหกิจที่เข้าข่ายใช้การจัดซื้อจัดจ้างตามรูปแบบเดิมไปก่อน
ด้านนางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ในการประชุมครั้งนี้มี 29 รัฐวิสาหกิจที่สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้ตามกรอบของกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างใหม่ได้ครบ 100% แต่มีอีก 33 รัฐวิสาหกิจที่พบปัญหา เช่น บมจ. ปตท., บมจ. การบินไทย, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, การไฟฟ้านครหลวง, การไฟฟ้าฝ่ายผลิต, บมจ. อสมท., บมจ. กสท. โทรคมนาคม, บมจ. ทีโอที และ บมจ. ธนาคารกรุงไทย รวมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐแห่งอื่น ๆ
“รัฐวิสาหกิจที่ติดขัดได้รายงานปัญหาว่ามีกิจกรรมที่ไม่สามารถทำได้ตามกฎหมายใหม่ได้ รวม ๆ แล้ว 100 กิจกรรม ซึ่งแต่ละแห่งก็มีมากน้อยไม่เท่ากัน แต่ภาพรวมส่วนใหญ่ยังทำตามได้ ยกเว้นบางกิจกรรมที่อาจมีข้อติดขัดบ้างก็ให้กลับไปทำการบ้าน และเสนอกลับมา โดยการแก้ปัญหาก็สามารถให้คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างฯ พิจารณาออกประกาศให้ได้เลย”
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมอบหมายให้กรมบัญชีกลางเร่งประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ ครั้งต่อไปโดยเร็ว ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา กรมได้มีการประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ โดยมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น